“อนุทิน”เปิดงานวิชาการกัญชา จ.อยุธยา ชื่นชมพัฒนาสายพันธุ์ต้านทานโรคสำเร็จ มั่นใจกัญชาอนาคตสดใส!

  • วางเป้ากระจายเมล็ดถึงมือเกษตรกร
  • มั่นใจ กัญชา มีอนาคตสดใส
  • ทั้งเรื่องสุขภาพ และสร้างรายได้

วันที่ 19 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ การประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 5 (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดนครนายก) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง ข้าราชการฝ่ายปกครอง บุคลากรด้านการสาธารณสุข อสม. ประชาชนจำนวนมาก เข้าร่วมกิจกรรม

นายอนุทิน กล่าวเปิดงานว่า เราสัญญาว่าจะทำให้กัญชากลับมาเป็นประโยชน์สำหรับคนไทย วันนี้กระทรวงสาธารณสุขจัจึงดให้มีการประชุมเรื่องกัญชาในทุกเขตสุขภาพ เพื่อเร่งให้ความรู้กับประชาชน ในอนาคตกัญชาจะเป็นช่องทางในการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นในทางหลัก หรือจะเป็นทางเลือก การที่เราเดินทางไปทุกเขตสุขภาพก็สะท้อนว่าเราเอาจริงกับเรื่องนี้ พืชกัญชา และพืชกัญชงสามารถนำไปแปรรูปได้อย่างมากมาย จนถึงการเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้เรื่องกัญชาและกัญชง ได้ปลดล็อกจากความเป็นยาเสพติดแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของสภาเพื่อกำหนดแนวทางการใช้ให้เกิดประโยชน์ และไม่ทำให้เกิดโทษ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายหารเมือง เมื่อกฎหมายผ่านออกมาแล้ว ประชาชนจะสามารถขอจดแจ้งปลูกได้ เรื่องของกัญชานั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ซอยคือ ซอยที่มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง และซอยที่มีอุปสรรค มีแต่ปัญหา ขอให้เราอย่าเดินเข้าไป กัญชาเป็นอนาคตของประเทศไทยทั้งในเรื่องของการแพทย์ ในเรื่องของสุขภาพไปจนถึงในเรื่องของการสร้างรายได้

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับกิจกรรมภายในงาน นอกเหนือจากการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีนิทรรศการ ตลาดนัดความรู้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีผลงานโดดเด่นมาร่วมจัดแสดงให้ประชาชนได้เห็น สัมผัส ชิม และลงมือทำ นายอนุทิน ได้เดินชมบูธจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง ระหว่างนั้น นายอนุทิน ได้แวะที่ร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชาคลองจิก พร้อมไปกับโชว์ฝีมือ การลวกเส้น และปรุงก๋วยเตี๋ยว ใส่กัญชาและสาธิตการทำยาหม่องกัญชา จากโรงพยาบาลเสนา และวิสาหกิจชุมชนคลองห้า คลองหลวง ท่ามกลางความสนใจของประชาชนจำนวนมาก

สำหรับการดำเนินการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 4 สามารถขับเคลื่อนนโยบายกัญชา-กัญชงสู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ มีการดำเนินงานได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สถานที่ปลูกกัญชา-กัญชงได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายแล้วในทุกจังหวัด รวม 87 แห่ง โดยมีศูนย์วิจัยยาเสพติดและตัดช่อดอกกัญชา (จุฬา-สระบุรี) ที่สามารถพัฒนาการปลูกกัญชาชีวภาพและปรับปรุงสายพันธุ์กัญชา กัญชงให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้เป็นที่แรกของประเทศไทย

กลางน้ำ มีโรงงานสกัดและแปรรูปกัญชากัญชงที่ได้รับอนุญาตแล้ว 13 แห่ง และมีโรงงานสกัดกัญชงใหญ่ที่สุดเป็นแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตในประเทศ คือ บริษัท R&B food supply จำกัด (มหาชน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งมีโรงพยาบาลเสาไห้ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.สระบุรีที่ได้มาตรฐาน GMP ผลิตยาศุขไสยาสน์ และด้วยความเป็นเจ้าของภูมิปัญญาตำราโอสถพระนารายณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ทำการศึกษาวิจัยพัฒนายาจากกัญชาได้แก่ยาศุขไสยาศน์ และ สำราญนิทรา ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การวิเคราะห์เครื่องยาและตั้งตำรับยา

นอกจากนี้ยังพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำไปผสมในอาหารขึ้นชื่อประจำจังหวัดเช่นก๋วยเตี๋ยวเรือกัญชา ขนมไทยเสน่ห์จันทร์ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น


ปัจจุุบัน จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยได้รับยากัญชา มากกว่า 240,000 ราย เป็นยาแผนไทย 85% แผนปัจจุบัน 15% รวมถึงมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สร้างรายได้ให้กับประชาชน ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงกว่า 7 พันล้านบาท และ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และในครัวเรือนได้มากขึ้น โดยไม่ต้องขออนุญาต เปลี่ยนเป็นการจดแจ้งให้รัฐทราบ ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชา 400 กว่าแห่ง กัญชง 1,800 กว่าแห่ง ที่ได้รับอนุญาต และมีผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง