“อนุทิน”เตรียมยื่น ศบค.พิจารณาหลักเกณฑ์ “ทราเวล บับเบิล”สัปดาห์หน้า

  • ต้องเป็นการเจรจาระหว่าง 2 ชาติ
  • มีเซ็น MOU สำหรับกลุ่มที่จะเดินทาง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจ สามารถเดินต่อไปได้ ในอนาคตการคลายล็อกจะเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม
ล่าสุด ทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกัน และได้พิจารณาเห็นชอบในร่างฯ กฎหมายเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 จากผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งต้องนำเสนอ ศบค.ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า มีการกำหนดกรอบถึงกลุ่มที่สามารถเดินเข้ามาในประเทศไทยได้ และมาตรการจัดการ ซึ่งบุคคลที่ได้รับสิทธิ์ เข้ามาก่อน

ทั้งนี้ ข้อเสนอที่จะให้ ศบค.พิจารณาให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยได้ประกอบไปด้วย บุคคลที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เช่น คณะทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มคนไทยกลับบ้าน และกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งต้องกำหนดมาตรการต่างๆ ให้ชัดเจน เกี่ยวกับข้อปฏิบัติก่อนเข้าประเทศ และข้อปฏิบัติเมื่อเข้าประเทศมาแล้ว


สำหรับเรื่องแทรเวลบับเบิล กำลังเจรจากับหลายประเทศ การเดินทางต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับในรายละเอียด บนพื้นฐานหลักการ ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ กรอบตรงนี้ ก็ต้องเสนอ ศบค.พิจารณาก่อน แต่ขอย้ำว่า การเจรจาเป็นการเจรจาระหว่าง 2 ชาติ และเซ็น MOU สำหรับกลุ่มที่จะเดินทางภายใต้มาตรการแทรเวลบับเบิล คือ คนที่มีความจำเป็นต้องเข้าประเทศไทย และอยู่ไม่นาน ไม่สามารถกักตัว 14 วัน และยอมให้ใช้มาตรการอย่างอื่นแทน เช่น การตรวจสุขภาพก่อนขึ้นเครื่อง หลังลงเครื่อง ต้องกำหนดระบะเวลาการอยู่ในประเทศให้ชัดเจน และต้องยอมให้ติดตามตัว รวมทั้งต้องให้ข้อมูลเรื่องผู้มาติดต่ออย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ถ้าใครจะเดินทางเข้ามา แต่ไม่สามารถวางแผนได้ ก็ต้องกักตัว


ขอยกตัวอย่าง กรณีนักธุรกิจไทย กลับจากต่างประเทศ อยู่ประเทศไทย 2-3 วัน ระหว่างนั้น ไปเซ็นสัญญาทางธุรกิจ และยอมรับเงื่อนไขของภาครัฐ พร้อมปฏิบัติตามทุกข้อ ก็ไม่ต้องกักตัว แต่ถ้าคนไทยกลับบ้าน และอยู่เมืองไทยนาน กรณีนี้ ต้องกักตัว 14 วัน ขณะที่กลุ่มผู้มาใช้บริการทางสุขภาพ กลุ่มนี้ ต้องตรวจสุบภาพก่อนขึ้นเครื่อง เมื่อลงเครื่องแล้วเข้าโรงพยาบาลเลย ภาครัฐทราบแน่นอนว่าอยู่ตรงไหน ติดต่อใครบ้าง ก็ไม่ต้องกักตัว ในส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ณ ปัจจุบัน เป็นคนไทยกลับบ้าน ภาครัฐรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ในอนาคต เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามา จะเป็นความรับผิดชอบของผู้ประสงค์เข้าประเทศ