“อธิรัฐ” เตรียมความพร้อมทางน้ำรับ “Phuket Sandbox”นำร่องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ก.ค.นี้

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเพื่อเป็นต้นแบบขยายไปสู่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางน้ำเพราะจังหวัดภูเก็ตมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญและมีชื่อเสียงในระดับโลก ตนจึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภาคการคมนาคมทางน้ำเร่งจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Phuket Sandbox) ของจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ในการกำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้า-ออกทางน้ำโดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 

ทั้งนี้มาตรการต่างๆมีดัง    1. กำหนดให้ท่าเทียบเรือโดยสาร จำนวน 3 ท่า เป็นด่านตรวจทางน้ำ ได้แก่1) ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต  2) ท่าเทียบเรือรัษฎา ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต  3) ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง 2. ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และพำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ตตามกำหนด 14 คืน ที่ประสงค์จะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตทางเรือ ให้เดินทางผ่านท่าเรือที่กำหนดเป็นด่านตรวจทางน้ำเท่านั้น แต่ในกรณีเดินทางโดยเรือยอร์ชให้เดินทางออกจากท่าเรือที่กำหนด ดังนี้  1) ท่าเทียบเรือยอร์ช เฮเว่น มารีน่า   2) ท่าเทียบเรืออ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า  3) ท่าเทียบเรือภูเก็ต โบ๊ทลากูน4) ท่าเทียบเรือรอยัล ภูเก็ต มารีน่า5) ท่าเทียบเรือมารีน่าอ่าวฉลอง โดยต้องแจ้งสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต หรือศูนย์ปฏิบัติการติดตามและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต (ศปก.Phuket Sandbox) ก่อนออกเดินทางไม่น้อยกว่า 6 ชม.

3. ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางท่องเที่ยวในน่านน้ำจังหวัดภูเก็ตให้เดินทางผ่านเฉพาะท่าเรือที่กำหนด และต้องปฏิบัติดังนี้ 3.1 ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  3.2 ติดตั้งระบบ Tracing Application “Morchana” บนสมาร์ทโฟนและอนุญาตให้เข้าถึงตำแหน่ง (Share Location) 3.3 เรือโดยสารจะต้องติดตั้งระบบแสดงตนอัตโนมัติตามระเบียบของกรมเจ้าท่า และติดตั้งวิทยุสื่อสาร VHF 3.4 เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือต้องแจ้งเรือเข้า-ออกท่าเรือเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนปล่อยเรือออกจากท่าหรือเมื่อเรือเข้าเทียบท่าเสร็จเรียบร้อย 3.5 ให้ผู้ประกอบการท่าเรือหรือผู้บริหารท่าเรือ สรุปรายงานข้อมูลเรือและข้อมูลผู้โดยสารเข้า-ออกทุกวันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

4. คนไทยจากต่างจังหวัด หรือคนต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยที่ประสงค์เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตผ่านช่องทางทางน้ำ(ท่าเรือ) ทุกท่าในจังหวัดภูเก็ต ให้ผู้เดินทางยกเว้นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด และต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ 4.1 ต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือครบโดสตามจำนวนวัคซีนแต่ละชนิด หรือได้รับวัคซีนชนิด AstraZeneca จำนวน 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 วัน หรือ 4.2 เป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน หรือ  4.3 ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT – PCR หรือวิธีการ Antigen Test ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการตรวจ

 4.4 ต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” บนสมาร์ทโฟน และยินยอมเปิดแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง (Location) ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต

5. ให้ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ ลูกเรือ พนักงานในเรือและผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามประกาศของกรมเจ้าท่าเรื่องมาตรการควบคุมควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แก่  5.1 ผู้ประกอบการเรือ เจ้าของเรือ นายเรือ และผู้ควบคุมเรือปฏิบัติ ดังนี้ 1) ต้องทำความสะอาดตัวเรือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำทุกครั้งที่ให้บริการเรียบร้อยแล้ว2) จัดวางแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือไว้บนเรือ 3) นายเรือและผู้ควบคุมเรือต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือสวมหน้ากากผ้าตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่ 4) ต้องควบคุมและกำกับให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่บนเรือและผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกคน 5) กำหนดให้มีการจัดที่นั่งหรือที่ยืน เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตรเพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย 6) ควบคุมจำนวนผู้โดยสารให้บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินจำนวนตามที่ใบอนุญาตใช้เรือกำหนด 7) กรณีที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศในเรือโดยสารต้องมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมและต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

5.2 ให้ผู้ประกอบการท่าเรือ ปฏิบัติดังนี้ 1) ทำความสะอาดท่าเรือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำทุกวัน 2) จัดวางแอลกอฮอส์หรือเจลล้างมือประจำบนท่าเรือ 3) ให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำท่าเรือสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกคน 4) นั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตรเพื่อป้องกันการติตต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย 5) ให้คัดกรอง (วัดอุณหภูมิ) คนประจำเรือ และผู้โดยสาร หากพบผู้ที่มีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการผิดปกติทางเดินหายใจ ให้ติดต่อแจ้งสายด่วน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขทางโทรศัพท์หมายเลข 1422

5.3 ให้ผู้โดยสารปฏิบัติ ดังนี้1) สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกคน  2) ให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือเจลล้างมือ   3) นั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตรเพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส หรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย4) เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามคำแนะนำของนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพนักงานของผู้ประกอบการเรือ

นอกจากนั้น ยังได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานด้วยความเข้มงวดมากกว่าในสถานการณ์ปกติ เพื่อให้ผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวได้รับความปลอดภัยสูงสุด รวมทั้งให้ใส่ใจในการดูแลเพื่อให้เกิดความประทับใจในการต้อนรับที่ดีของประเทศไทย