“อธิรัฐ”ลงอุบลฯระดมความช่วยเหลือมอบถุงยังชีพให้ประชาชน 2 ริมฝั่งแม่น้ำมูล

  • พร้อมสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด คาดใช้งบฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
  • ระดมมาตรการป้องกันระยะยาวแนวตลิ่ง แม่น้ำ คลอง-ขุดลอกร่อง

ที่สำนักงานกรมเจ้าท่าสาขาจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16ก.ย.62 เวลา 13.00 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช. คมนาคม ได้ลงพื้นที่ อ. วารินชำราบ ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ที่น้ำท่วมบ้านเรือนชาวบ้านสูงกว่า2-3 เมตร และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพ ให้กับชาวบ้าน ชุมชนศูนย์อพยพ สะพานเสรีประชาธิปไตย ,บ้านหาดสวนยา , บ้านท่าม้งมั่ง ริม2ฝั่งแม่น้ำมูล โดยมีน.ส.ณัฐธภัสส์ ยงใจยุทธ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ร่วมคณะ

โดยนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช. คมนาคม กล่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมและมอบถุงยังชีพครั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านที่ประสบภัยได้รับทราบว่าในส่วนกลางไม่ได้ทอดทิ้งผู้ประสบภัย ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำให้เห็นว่าน้ำท่วมสูงมากจนชาวบ้านไม่สามารถจะอาศัยในบ้านเรือนได้ต้องอพยพมาอยู่บนท้องถนน กางเต็นท์อาศัยนอน ที่น้ำไม่ท่วมถึง ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านบางส่วนไม่ยอมย้ายออกจากบ้านเนื่องจากเฝ้าของ แม้จะมีสภาพน้ำท่วมสูงเนื่องจากเป็นห่วงทรัพย์สิน ของมีค่าในบ้าน ทั้งนี้ตนจึงได้ขอให้กรมเจ้าท่า ประสานงานกับหน่วยงานอื่น เร่งนำสิ่งของช่วยเหลือมอบแก่ประชาชนไปจนกว่าสภาวะน้ำท่วมจะคลี่คลาย ขณะเดียวกันตนยังได้น้ำสิ่งของที่ ชาว อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ร่วมบริจาคสิ่งของมาให้กรมเจ้าท่าเพื่อบรรจุเป็นถุงยังชีพแจกชาวบ้าน

นอกจากนี้ในส่วนของการฟื้นฟูนั้นได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า เร่งสำรวจ ใน 2 ส่วน คือ ตลิ่งและ ท่าเรือ ริมฝั่งแม่น้ำที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่จำเป็นต้องเข้าบูรณะซ่อมแซม ส่วนที่ 2 คือ สภาพน้ำท่วมที่ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนและจำเป็นต้องเร่งขุดลอกร่องน้ำใหม่ ก็ให้เร่งดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยการสำรวจในส่วนหลังนี้ขอให้ดำเนินการทั่วประเทศไม่เฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ ทางกรมเจ้าท่าได้ประเมินความเสียหาย และงบประมาณที่จะต้องจัดสรรในการบูรณะจนถึงการขุดลอกร่องน้ำประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยต้องใช้ขุดลอกตะกอนและกำจัดสิ่งกีดขวางลำน้ำ ที่ไหลมากับกระแสน้ำ รวมถึงอาจต้องมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง และซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่งพังของกรมเจ้าท่าในหลายพื้นที่

นายอธิรัฐ กล่าวต่อว่า กรมเจ้าท่า ยังได้เตรียมงบประมาณฟื้นฟูในส่วนของกรมเจ้าท่า ในการบำรุงรักษาทางน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 63 จำนวน 78.9493 ล้านบาท เพื่อขุดลอกบำรุงรักษาทางน้ำจำนวน 22 แห่ง ระยะทาง 170 กิโลเมตร ปริมาณวัสดุที่ต้องขุดลอก 2.542 ล้านลูกบาศก์เมตร และก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง 2 โครงการเป็นงบผูกพันปี 63 – 64 รวมเป็นเงิน 76 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นและทำให้ลำน้ำหลายสายได้รับผลกระทบรวมถึงมีซากต้นไม้และสิ่งของต่างๆ ที่ไหลมากับกระแสน้ำไหลลงสู่ลำน้ำ ทางกรมเจ้าท่าจะปรับแผนมาดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาในโอกาสแรกก่อน และจะเสนอของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

นอกจากนั้นยังได้จัดทำแผนการขุดลอกลำคลอง แม่น้ำ เพื่อเตรียมพร้อมภัยแล้งต่อ โดยกรมเจ้าท่า มีแผนแม่บทด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทภัย ภายใต้เป้าหมายเพื่อเป็นตัวชี้วัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายระหว่างปี 61-80 ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับของสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ โดยในปี 64 ตามแผนแม่บทจะต้องดำเนินการปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติที่ตื้นเขินให้สามารถระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพ จำนวน 58 แห่ง ระยะทาง 902 กิโลเมตร ปริมาณวัสดุที่ต้องขุดลอก 29 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสำรวจออกแบบพื้นที่เป้าหมายที่ต้องปรับปรุงลำน้ำ ระยะทาง 800 กิโลเมตร ตลอดจนศึกษาและทบทวนผลการศึกษาลุ่มน้ำสายหลักตามแผนแม่บทให้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา งบประมาณภาพรวมทั้งประเทศ 2,113.460 ล้านบาท และงบประมาณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 600 ล้านบาท

นายอธิรัฐ กล่าวว่า ทั้งนี้หากได้รับงบประมาณตามแผนแม่บทที่วางไว้จะสามารถปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติที่ตื้นเขินให้สามารถระบายน้ำได้มีอย่างประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงเครือข่ายลุ่มน้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน ซึ่งเป็นการป้องกันและช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นและยังเป็นการรักษาสภาพลำน้ำ ให้คงสภาพตามธรรมชาติ สนับสนุนองค์กรลุ่มน้ำ ตลอดจนเพิ่มพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำธรรมชาติในลำน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไปได้ด้วย