“องอาจ” ลั่น! พรรคประชาธิปัตย์พร้อมสู้ศึกสนามเลือกตั้ง กทม.

วันนี้ (13 เม.ย.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.ว่า ขณะนี้พรรคได้เตรียมไว้ 2 ส่วน คือ เลือกตั้งสมาชิกสภา กทม.(ส.ก.) และผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพราะคาดว่าจะเลือกตั้งพร้อมๆ กัน โดยตลอดช่วงปี 20 เราได้เตรียมผู้สมัคร จัดทำนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง และทีมงานช่วยดำเนินการรณรงค์หาเสียงไว้แล้ว โดยนโยบายก็คือการเข้ามาแก้ไข พัฒนา กทม. ซึ่งได้จากการระดมความคิดเห็นจากบุคลากรของพรรค เช่น ส.ส. อดีต ส.ก. ส.ข. ตัวแทนสาขาพรรค และระดมความเห็นจากคนภายนอกที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งจัดให้มีการแสดงความเห็นทางออนไลน์ตามหัวข้อต่างๆ เช่นปัญหา PM 2.5 โดยเข้ามาเสนอนโยบายต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีการเจาะลึกลงไปเฉพาะกลุ่มเพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการของคน กทม.อย่างแท้จริงว่า อะไรที่เป็นปัญหาที่ควรแก้ไข โดยจัดความสำคัญ 5 ลำดับไว้หากมีโอกาสได้เข้าไปทำงานไม่ว่าในสถานะ ส.ก. หรือผู้บริหาร ตอนนี้ถือว่านโยบายเหล่านี้มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และพร้อมที่จะบริหาร กทม.หากได้รับโอกาสนั้น

ส่วนเรื่องตัวบุคคล ในส่วน ส.ก. พรรคมีบุคลากรอยู่แล้วประมาณ 20 กว่าคน ส่วนมากแสดงความจำนงที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งกับพรรคต่อไป ส่วนที่เราต้องสรรหาใหม่อีกประมาณ 30 คน ขณะนี้มีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์อีก 10% ที่เหลือบางเขตมีคนสนใจมากกว่า1 คน พรรคให้โอากสทำงานในพื้นที่ เมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็จะประชุมคณะทำงานสรรหาผู้สมัคร ส.ก.พิจารณาว่าใครเหมาะสม

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาพรรคมีปัญหาเลือดไหลในสนาม ส.ก.เพราะถูกพรรคอื่นดึงตัวไปจำนวนมาก มั่นใจได้อย่างไรว่าจากวันนี้จนถึงวันเลือกตั้งจะไม่มีปัญหานี้อีก นายองอาจกล่าวว่า เราไม่มีโอกาสไปรู้ล่วงหน้า แต่ก็ไม่ติดใจ ถือเป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคลที่จะพิจารณาว่าจะทำงานกับเราต่อไป หรือไปอยู่พรรคอื่นด้วยเหตุผลหรือสาเหตุอะไร ที่ผ่านมาก็มีการดึงพรรคเราไปตลอดเวลา

สำหรับผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคได้ดำเนินการสรรหาตัวผู้สมัครมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว โดยมีการพูดคุยคนที่สนใจและคนที่พรรคคิดว่าน่าสนใจมาประมาณ 3-4 ท่าน จนขณะนี้เหลืออยู่ 2 ท่านที่อยู่ในข่ายพรรคจะพิจารณา เมื่อถึงเวลาเหมาะสมที่ต้องตัดสินใจก็จะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการบริหารเพื่อตัดสินใจครั้งสุดท้าย คิดว่าคงไม่น่าจะมีใครมาขอลงสมัครเพิ่มอีกแล้ว เกณฑ์ในการเลือกผู้สมัครของเราก็คือมีรู้ความสามารถ เป็นบุคคลสาธารณะ ความมุ่งมั่น มีบุคคลิกลักษณะที่พร้อมจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ และมีภาวะผู้นำผู้บริหารระดับสูง

เมื่อถามว่าเป็นเพราะพรรคได้รับบทเรียนมาจากการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.จาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ใช่หรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า ปกติทุกครั้งหลังที่มีการเลือกตั้ง เราก็จะมีการนำทุกอย่างมาสรุปบทเรียนว่าต้องปรับปรุง แก้ไขพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในการทำงานครั้งต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นกระบวนการในระบอบระบบประชาธิปไตย และกระบวนการพัฒนาตนเองต่อไป

ต่อข้อถามว่าพรรคมีการสอบถามคนกรุงหรือไม่ว่าอยากได้ผู้ว่าฯ แบบไหน นายองอาจกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการสำรวจโพลออกมาเยอะแยะอยู่แล้ว พอที่เราจะสามารถนำมาประเมินได้ แต่พรรคเองก็มีการสำรวจเป็นระยะเช่นกัน ตนคิดว่า กทม.ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งมีการใช้วิจารณาญาณในการพิจารณาตัดสินใจหาผลคนที่เหมาะสมที่สุดในการเข้ามารับผิดชอบทำงานในแต่ละประเภท แต่ละช่วงเวลา

เมื่อถามมีหลายคนได้ชิงเปิดตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว เช่นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. หรือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน เท่าที่เห็นมีความกังวลหรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า พรรคได้ผ่านสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาหลายสมัย ตั้งแต่ปี 2528 จึงปกติธรรมดาที่จะมีผู้สมัครเป็นบุคคลที่น่าสนใจจำนวนมาก เราจึงไม่วิตกกังวลว่าใครจะลงสมัคร แต่จะเน้นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่รณรงค์หาเสียงจนถึงวันเลือกตั้ง หากประชาชนมอบความไว้วางใจให้ทำงานก็ต้องพร้อมตั้งแต่วันแรกที่ได้รับตำแหน่งเลย

“เราไม่ต้องกังวลว่าพรรคพรรคการเมืองอื่นจะเป็นใคร เพราะทุกครั้งเราต้องแข่งขันกับผู้สมัครที่น่าสนใจ คนดังๆ ทั้งนั้น ผมว่าคนที่แสดงตัวออกมาตอนนี้ก็เหมือนนักมวยที่กำลังฟุตเวิร์ก วอร์มอัพร่างก่อนเตรียมขึ้นชกเท่านั้น พอถึงเวลาชกจริงค่อยมาดูกันว่าใครจะชนะ หรือคนกรุงเทพฯ จะเลือกใครดีกว่า”

ส่วนผลโพลสำรวจล่าสุดระบุว่าชาว กทม.อยากให้การสนับสนุนผู้สมัครอิสระมากกว่าตัวแทนจากพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตอนนี้มีแต่คนที่ประกาศตัวลงสมัครที่ชัดเจนว่าจะลงในนามอิสระ แต่ในส่วนของพรรคการเมืองยังไม่มีการเปิดออกมา จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผลโพลจะออกมาลักษณะนี้ เพราะต้องให้ความเห็นกับคนที่เขารู้จักก่อน ตนคิดว่าเมื่อพรรคเปิดตัวแล้วผลสำรวจ อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเมืองในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มาอย่างไร นายองอาจกล่าวว่า สนามการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. กับเลือกตั้งระดับชาติ มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว การตัดสินใจของประชาชนทุกครั้งจะพิจารณาเป็นเรื่องๆ เช่น ในอดีตนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคการเมืองในปี 42 และลงสมัครการเลือกตั้งทั่วไปในปี 44 เขากวาดที่นั่งได้เกือบทั้งหมด พรรคเราได้ไม่กี่คน แต่พอมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 47 มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีคนมีชื่อเสียงแห่กันลงสมัครจำนวนมาก ปรากฏว่าคน กทม.กลับเลือกผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายอภิรักษ์ โกษโยธิน ผู้สมัครหน้าใหม่นอกวงการที่ไม่มีใครรู้จัก ทั้งที่กระแสนิยมรัฐบาลนายทักษิณขึ้นสูงมาก พอผ่านมาแค่อีก 6 เดือน คน กทม.กลับมาเลือก ส.ส.พรรคไทยรักไทยทั้งกรุงเทพฯ  ผู้สมัครของเราตกเกือบหมดได้มาแค่ 2-3 คน มีส.ส.เก่าเพียงคนเดียวคือตน แสดงให้เห็นว่าคนกทม.เขาแยกเรื่องออกจากกัน

เป็นตัวอย่างหนึ่งในอดีตที่ให้เห็นว่าคน กทม.ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพิจารณาเป็นเรื่องๆ ในแต่ละครั้ง เขาพิจารณาองค์ประกอบหลายๆ อย่าง และพิจารณาบุคคลที่เขาเห็นว่าเหมาะสมที่สุดในเรื่องนั้นๆ และตนยังมั่นใจว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะยังคงเหมือนเดิม คือมีอิสระในการตัดสินใจอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่าเขาจะเลือกใคร ขึ้นอยู่กับผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะส่งใคร

ต่อข้อถามว่าหมายความว่า แม้ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่มี ส.ส.เขตใน กทม.เลยก็ไม่เป็นปัจจัยสำคัญในการลงคะแนนของคน กทม.ใช่หรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องแน่นอนเพราะในอดีตเราได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรคไทยตั้ง 1 ใน 3 เรายังสามารถชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้

ส่วนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ เช่น คนละครึ่ง เรารักกัน ที่ดูเหมือนประชาชนจะพึงพอใจจะทำให้พรรคต้องกังวลหรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า อย่าลืมว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ และอีกหลายพรรคร่วมด้วย ถ้าไม่มีพรรคเหล่านี้ก็ไม่มีรัฐบาล อย่างไรก็แล้วแต่อยู่ที่ประชาชนจะคิดตัดสินใจ เรามีหน้าที่สรรหาคนที่ดีที่สุดเสนอให้เขาเลือกเท่านั้น

เมื่อถามว่านโยบายหาเสียงครั้งนี้จะเป็นเรื่องเก่าที่เป็นปัญหาเดิมๆ ใน กทม. หรือมีนโยบายใหม่เกิดขึ้น นายองอาจกล่าวว่าจะมีทั้งปัญหาเดิมๆ และปัญหาใหม่เช่น PM 2.5 ในการเลือกตั้งปี 56 เราไม่ได้ชูเรื่องนี้เพราะปัญหายังไม่รุนแรงขนาดนี้ เราจะต้องมีวิธีเสนอว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนปัญหาเก่าๆ น้ำท่วม ขยะ สิ่งแวดล้อม จราจร ปากท้องของประชาชน ก็ยังคงต้องมีอยู่

เมื่อถามว่าดูเหมือนจะมีแต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคการเมือง ส่วนพรรคอื่นๆ จะสนับสนุนผู้สมัครอิสระ นายองอาจกล่าวว่า ก็แล้วแต่พรรคการเมืองอื่นจะตัดสินใจอย่างไร เป็นสิทธิของเขา แต่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจท้องถิ่น ซึ่งเป็นอุดมการณ์ 1 ใน 10 ข้อของพรรคที่เริ่มตั้งแต่ก่อตั้ง ดังนั้น เราจะส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้โดยคนของท้องถิ่นเองโดยมีพรรคการเมืองให้การสนับสนุน พิจารณาหาบุคคลที่เหมาะสมมาลงสมัคร และช่วยกันทำนโยบายที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหา พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นภาระหน้าที่พรรคการเมืองต้องทำอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่าคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นหนึ่งในใจของคน กทม.อีกหรือไม่ รองหัวหน้าพรรคกล่าวว่า คนกรุงจะพิจารณาเองว่าเราเหมาะสมหรือไม่ แต่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองคู่บ้านคู่เมืองมานาน และเป็นพรรคของคนทุกคน ไม่ได้เป็นพรรคที่จะมีใครมาเป็นเจ้าของ จะเห็นว่ามีการสลับคนมาเป็นผู้นำตลอด ฉะนั้นคน กทม.ก็มอบความไว้วางใจเราทำงานใน กทม.มาอย่างต่อเนื่องบางครั้งก็มอบให้คนอื่นบ้างก็เป็นเรื่องปกติ แต่ก็คงไม่มีใครแพ้ หรือชนะตลอดเวลา