“องอาจ”แนะนายกรัฐมนตรีเตรียมพร้อมทำโพลสำรวจเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่-ชี้ควรทำ ให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นไม่ใช่ทำแบบขอไปที

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) เตรียมทำโพลหยั่งเสียงเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า การที่นายกฯ สั่งการให้ทำโพลสำรวจว่าควรคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้หรือควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เห็นว่า นายกฯ ทราบดีว่าเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปหรือไม่เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคม เพราะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีทั้งผลบวกและลบในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการทำงานป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อทำการสำรวจและมีผลสำรวจออกมาแล้ว ก็อาจมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อผลการสำรวจนั้น เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมในการสำรวจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้การสำรวจได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และเมื่อมีผลการสำรวจออกมาก็จะเป็นผลการสำรวจที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้

ทั้งนี้หากมีการสำรวจว่าควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แบบขอไปที หรือมีวาระซ่อนเร้นก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า สำรวจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจหรือเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่า หวังผลเอาผลการสำรวจมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา โควิด – 19 อย่างแท้จริง ก็จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทับซ้อนปัญหาเก่าเพิ่มขึ้น

นายองอาจ กล่าวต่อว่า และเพื่อให้การสำรวจว่าควรคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้หรือควรยกเลิกได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ควรดำเนินการดังนี้ 1) ให้ใครทำการสำรวจ ซึ่งการที่นายกฯ สั่งการให้ กอ.รมน. ทำการสำรวจอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เพราะ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานภาครัฐ อาจถูกมองว่ารับงานเพื่อสนองความต้องการของนายกฯ เพื่อผลทางการเมือง นายกฯ ควรหาหน่วยงานทางวิชาการ ทำการสำรวจเพื่อสร้างการยอมรับ เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยการไม่ยอมรับหน่วยงานที่ทำสำรวจแล้ว ก็จะเกิดการไม่ยอมรับผลการสำรวจด้วย

2) เครื่องมือและวิธีการที่ใช้สำรวจคืออะไร เพราะในการสำรวจตรวจสอบความคิดเห็นของประชาชนมีเครื่องมือทางวิชาการและวิธีการที่จะใช้หลากหลายชนิด ควรจะคิดหาเครื่องมือที่สร้างการยอมรับได้ 3) เนื้อหาสาระได้มาตรฐานทางวิชาการหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากการสำรวจความคิดเห็นที่จะได้ผลคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของการสำรวจด้วย ถ้าเนื้อหาบิดเบี้ยว ผลที่ตามมาก็จะบิดเบี้ยวตามไปด้วย ควรออกแบบเนื้อหาให้ได้มาตรฐานทางวิชาการเพื่อได้ผลที่ไม่บิดเบี้ยว

ดังนั้นจึงขอฝากนายกฯ ให้พิจารณาการทำสำรวจว่าจะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้หรือยกเลิกด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ไม่มีอะไรแอบแฝง ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชนเพื่อใช้ผลการสำรวจเป็นประโยชน์ในการทำงานสู้ภัยโควิด-19 อย่างแท้จริง