องค์การเภสัชกรรมจับมือบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศ ปรับแผนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ รับมือโควิด19

  • ส.ค. 2.5 ล้านเม็ด ก.ย. 23 ล้านเม็ด ต.ค. ไม่น้อยกว่า 40 ล้านต่อเดือน
  • เพิ่มกำลังการผลิตยารักษาโรคเรื้อรัง 7 รายการ
  • รองรับช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า จากการที่องค์การฯได้ทำการปรับแผนการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์(ยาฟาเวียร์) ให้เพิ่มขึ้น โดยแผนการผลิตยาฟาวิพิราเวียร (ยาฟาเวียร์) ขององค์การเภสัชกรรม ในเดือนสิงหาคม จำนวน2.5 ล้านเม็ด กันยายนผลิตเพิ่มเป็น 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะผลิตเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 40 ล้านต่อเดือน ซึ่งจะมีการบริหารจัดการและการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งจากการนำเข้าจากต่างประเทศและผลิตเอง ให้เพียงพอสอดคล้องกับสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศ นอกจากนั้นยังพบว่าขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศบางบริษัทได้เริ่มทำการวิจัยพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นมาบ้างแล้ว ซึ่งสิ่งที่เป็นน่ายินดีที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในส่วนยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ในช่วงนี้พบว่าความต้องการใช้ยารักษากลุ่มโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติที่ได้วางแผนไว้ ทำให้มีผลกระทบต่อสายการกำลังการผลิตยารักษาโรคเรื้อรัง ที่องค์การฯผลิตอยู่ และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงได้จัดประชุมวางแผนการผลิตยาของประเทศในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(กองยา) องค์การเภสัชกรรม โรงงานเภสัชกรรมทหาร สภากาชาดไทย และสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA)  ร่วมประชุมด้วย เพื่อวางแผนและจัดสรรกำลังการผลิตยาในภาพรวมให้เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ

โดยในส่วนขององค์การฯเห็นว่าเพื่อให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมียาใช้เพียงพอ อย่างต่อเนื่อง จึงได้ขอความร่วมมือจากสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ซึ่งดูแลบริษัทผู้ผลิตยาเอกชนในประเทศ ร่วมดำเนินการผลิตยารักษาโรคเรื้อรังจำนวน 7 รายการ  ประกอบด้วย 

1.ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ใช้ลดระดับคลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ในหลอดเลือด
2.ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ยาใช้รักษาโรคเบาหวาน
3.ยาลอซาร์แทน (Losartan) ใช้ลดความดันโลหิตที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว
4.ยาโพรพาโนลอล (Propanolol)ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
5.วิตามินB1 6 12 6.ยากรดโฟลิก (Folic acid) รักษาภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดง และภาวะขาดกรดโฟลิก
7.ยาฟลูออกซิทีน รักษาโรคซึมเศร้า (Fluoxetine) และยาลอราตาดีน (Loratadine) รักษาภูมิแพ้ ซึ่งปัจจุบันองค์การฯไม่ได้ผลิตแล้ว

ทั้งนี้ยา 7 รายการในข้างต้นองค์การฯยังคงมีการผลิตและสำรองให้ผู้ป่วยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ และองค์การฯได้ขอความร่วมมือให้ บริษัทผู้ผลิตยาเอกชนอื่น ๆซึ่งมีทะเบียนตำรับยาดังกล่าวอยู่ ดำเนินการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการประชุม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันยินดีที่จะนำไปวางแผนร่วมกับบริษัทผลิตยาเอกชนอื่น ๆ เพื่อเร่งทำการผลิตต่อไป

ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า อภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และได้มีการวางแผนการผลิตยาในส่วนของยาอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และอภ.ยังคงยืนหยัดที่จะทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ดำเนินการในทุกภารกิจทั้งด้านยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ ให้กับพี่น้องประชาชน และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันแสดงศักยภาพโดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้