อคส.สุดทน! ร้อง ป.ป.ช.เอาผิด “พ.ต.อ.รุ่งโรจน์และพวก”

.ฐานใช้อำนาจในทางทุจริตเอื้อประโยชน์เอกชน

.ทำอคส.เสียหายคิดเป็นเงินกว่า 1.3 พันล้านบาท

.ส่วนเอกชนที่ร่วมด้วยผิดข้อหาสนับสนุนการกระทำผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุด กรณีการใช้อำนาจในทางทุจริตในลักษณะแบ่งแยกงานกันทำ มีเจตนาไม่ดำเนินการตามขั้นตอน ระเบียบ และกฎหมาย ของพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการอคส. และพวก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อีกอคส. 3 ราย รวม 4 ราย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทค้าข้าวรายหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่อคส.เช่าคลังสินค้าฝากเก็บข้าวสารจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 54/55 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 55 ส่งผลให้อคส.ได้รับความเสียหายเป็นเงินค่าเช่าคลังสินค้าที่ชำระให้บริษัทนี้ แล้ว 196.81 ล้านบาท และความเสียหายจากข้าวที่ยังคงค้างในคลังจากการทุจริตอีกไม่น้อยกว่า 1,300 ล้านบาท

สำหรับหนังสือร้องเรียนที่อคส.ยื่นต่อป.ป.ช.นั้น ระบุว่า กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 62 เมื่อครั้งพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ที่คณะกรรมการ (บอร์ด) อคส.เพิ่งมีมติให้ไล่ออก เพราะทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาทไปแล้วนั้น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ อคส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่อคส.อีก 3 ราย กระทำโดยทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยทำสัญญาเช่าคลังสินค้า และทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าคลังย้อนหลังให้กับบริษัท รวม 4 คลัง 

ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทนี้ ได้รับค่าเช่าคลังฝากเก็บข้าวจากอคส. ทั้งๆ ที่ข้าวที่เก็บใน 4 คลัง เป็นข้าวที่ติดคดีทุจริตจัดทำข้าวสารบรรจุถุงช่วยเหลือประชาชนในปี 57 สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สำคัญ ข้าวดังกล่าว อคส.ไม่ได้ทำสัญญาเช่าคลังกับบริษัท อีกทั้งข้าวดังกล่าว ถูกอายัดมาตั้งแต่ปี 57 และอยู่ระหว่างการไต่สวนและชี้มูลความผิดของป.ป.ช. 

สำหรับข้าวที่ฝากเก็บใน 4 คลังของบริษัทรายนี้ เป็นข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ที่บริษัทได้นำไปปรับปรุง เพื่อทำข้าวถุงช่วยเหลือประชาชนในปี 57 แต่ในระหว่างดำเนินการ เกิดปัญหาทุจริตขึ้น อคส.จึงมีคำสั่งให้ยุติดำเนินการ และบริษัท ต้องคืนข้าวเข้าสต๊อกให้กับอคส. แต่กลับนำข้าวสารดังกล่าว ที่ไม่ทราบจำนวน เข้าเก็บในคลังสินค้าของตนเองโดยไม่ได้ทำสัญญากับอคส. ต่อมาปี 62 ที่พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ รักษาการผู้อำนวยการอคส. ได้ร่วมกับพวก  ทำสัญญาเช่าใหม่ โดยให้สัญญามีผลย้อนหลังไปถึงปี 57 เพื่อให้บริษัท ได้รับค่าเช่าคลังจากอคส. โดยไม่ต้องรอผลชี้มูลความผิดจากป.ป.ช.  

โดยการทำสัญญาเช่าย้อนหลังนี้ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ไม่ได้รายงานให้คณะกรรมการ (บอร์ด) อคส.ทราบ หรือไม่ได้หารือป.ป.ช. หรือมีพฤติการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะเข้าเข้าใจว่า พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ใช้ความระมัดระวังในการทำสัญญาย้อนหลัง เพื่อไม่ให้อคส.เสียหาย  

นอกจากนี้ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ และพวก ยังร่วมกันทำบันทึกแนบท้ายสัญญาเช่าย้อนหลัง โดยกำหนดเงื่อนไข 3 ข้อ คือ ข้อ 1 อคส.จะทยอยจ่ายค่าเช่าคลังและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลให้บริษัทให้เสร็จในเวลาไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่ 3 ธ.ค.63 ข้อ 2 ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายคงเหลือ อคส.จะจ่ายหลังได้รับงบประมาณให้เสร็จใน 30 วัน และข้อ 3 บริษัทยินยอมให้อคส.นำข้าวในคลังต่างๆ ของบริษัท ออกระบายโดยไม่ยึดหน่วง ขัดขวาง เว้นแต่อคส.ไม่ชำระหนี้ บริษัทสามารถยึดหน่วงข้าวได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้  

โดยบันทึกแนบท้ายนี้ ถือว่า ขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 35 ที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจ ต้องส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาก่อนลงนาม แต่พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ลงนามเองโดยไม่ผ่านการพิจารณาของบอร์ด หรืออสส. อีกทั้งยังขัดกับสัญญาหลักในการเช่าคลังฝากเก็บข้าวรัฐ ที่กำหนดว่า ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิยึดหน่วงข้าวสาร หรือทรัพย์สินใดๆ ของผู้เช่า (อคส.) ที่เก็บไว้ในสถานที่เช่า ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ทั้งสิ้น  

ทั้งนี้ จากการทำสัญญาเช่าย้อนหลัง และการทำบันทึกแนบท้ายดังกล่าว ทำให้บริษัท นำมาใช้เป็นข้ออ้างให้อคส.ต้องชำระค่าเช่า และอ้างสิทธิยึดหน่วงข้าว เพื่อให้อคส.ชำระค่าเช่า ซึ่งการดำเนินการของพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ และพวก ถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 8 มาตรา 11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 และเนื่องจากผู้บริหารบริษัท ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 8 มาตรา 11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86