ห้องเสื้อนางงาม “กัมพูชา” ละเมิดลิขสิทธิ์คนไทย

.นำลายไทย “ราหูอมจันทร์” ไปใช้โดยไม่รับอนุญาต

.โชว์หราบนชุดผู้เข้าประกวด Miss Universe 2022 กัมพูชา

.กรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียกร้องให้หยุดละเมิดทันที

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า จากกรณีห้องเสื้อในกัมพูชานำผลงานการออกแบบลายไทย “ราหูอมจันทร์” ของนายฐิติ เกตุธรรม ศิลปินคนไทย ไปใช้บนชุดผู้เข้าประกวด Miss Universe 2022 ของกัมพูชา โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เร่งตรวจสอบและติดต่อเจ้าของผลงาน “ราหูอมจันทร์”  ซึ่งพบว่า มีหลักฐานต้นฉบับการออกแบบของศิลปินคนไทย จึงเป็นผลงานลิขสิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทันทีที่ได้สร้างสรรค์   และการนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน และสร้างความเสียหายให้กับศิลปินไทยรายดังกล่าว

“กรมได้แจ้งกรมลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรม ประเทศกัมพูชา และส่งหลักฐานที่แสดงถึงการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินคนไทย พร้อมแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการกระทำของห้องเสื้อกัมพูชา ที่นำผลงานดังกล่าวไปใช้บนชุดผู้เข้าประกวด Miss Universe ของกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และสร้างความเสียหายให้กับผู้สร้างสรรค์ชาวไทย จึงเรียกร้องให้กัมพูชายุติการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว และกรมจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยจะได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม และระงับความเสียหายให้ได้อย่างทันท่วงที”  

นายวุฒิไกร กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น งานเขียน งานประพันธ์ ภาพวาด ภาพถ่าย ฯลฯ หลังจากสร้างสรรค์ผลงานแล้ว ควรมาจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรม เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า ตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่แท้จริง หากมีการละเมิดเกิดขึ้น จะได้มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน ไม่ต้องเสียเวลาสืบค้น ซึ่งจะช่วยให้หยุดความเสียหายได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังสามารถมาขอคำปรึกษาจากกรมได้ เพราะกรมมีงานบริการประชาชนที่หลากหลายและมีความจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เช่น ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) ซึ่งพร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในทุกมิติอย่างครบวงจรระบบ เป็นต้น หรือหากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สอบถามได้ที่สายด่วนกรมโทร. 1368

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวทันที ที่ทราบว่า มีการละเมิดเกิดขึ้น โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค.65 นายฐิติ  ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยนำผลงานการออกแบบลายไทย “ราหูอมจันทร์” มาโพสต์พร้อมกับข้อความว่า “ไม่ถามสักคำ หรือคุยกันคนละภาษา ผมทวงสิทธิ์อะไรได้มั่งครับ…” จากนั้นวันที่ 29 พ.ค. เพจโบราณนานมา ได้โพสต์เรียกร้องให้ทางการไทยแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นปี 65 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก้ปัญหากรณีที่กัมพูชาละเมิดลิขสิทธิ์คนไทยไปแล้ว 1 กรณี โดยแพลตฟอร์มออนไลน์กัมพูชา ได้นำนิยายของนักเขียนไทย เจ้าของนามปากกา “แสตมป์เบอรี่” และ “ปุยฝ้าย” สำนักพิมพ์แจ่มใส ไปแปลเป็นภาษากัมพูชาและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง กรมจึงได้ประสานสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ และกรมลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง ให้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว จนนำมาซึ่งเจ้าของแพลตฟอร์มได้ลบเนื้อหานิยายที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของไทยออกจากเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก พร้อมเผยแพร่คำขอโทษต่อสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์