“หัวเว่ย” เชื่อเศรษฐกิจดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนตลาดโลก

  • เดินหน้าลงทุนปี64 ทุ่ม 700 ล้านบาท  
  • เสริมพลังดิจิทัลให้ประเทศไทย 
  • มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางอาเซียน

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักตัวใหม่ในตลาดทั่วโลก โดยผลการศึกษาพบว่าเมื่อใดที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศหนึ่งปรับสัดส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้น 20% จะส่งผลให้ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นได้ถึง 1% นอกจากนี้การลงทุนด้าน ICT ยังให้ผลตอบแทนกลับมามากกว่าการลงทุนทั่วไปถึง 6.7 เท่า ทั้งนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและผลักดันการเติบโตในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันมีมากกว่า 164 ประเทศที่วางกลยุทธ์ด้านดิจิทัลระยะยาวไว้แล้วเพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ ซึ่งหัวเว่ยได้มองเห็นความก้าวหน้าของการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะยกระดับขึ้นเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคนี้ 

ทั้งนี้หัวเว่ยมองว่าการผสานรวมของเทคโนโลยีด้านการเชื่อมต่อและการประมวลผลคอมพิวเตอร์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมคมนาคม การเงิน พลังงาน การศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดคุณค่าใหม่ ๆ ในสังคม ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงปรับเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลครั้งใหม่ โดยหัวเว่ยเชื่อว่าภายในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ เทคโนโลยี เช่น 5G, คลาวด์, การประมวลผลคอมพิวเตอร์แบบ Edge (Edge Computing) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะได้รับการนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนมากถึง 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ( GDP) ของ ประเทศไทย และไทยจะสามารถขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียนได้

อาเบล เติ้ง

“เรามั่นใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพอย่างเต็มที่ในการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในอาเซียน เนื่องจากไทยประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลาวด์, AI และ 5G รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้าน ICT ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจดิจิทัล หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ไทยมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการสร้างศูนย์กลางความเป็นเลิศใน 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity excellence hub), ศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านคลาวด์ (Cloud excellence hub), ศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านดิจิทัลอีโคซิสเต็ม (Digital ecosystem excellence hub) และศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านทักษะดิจิทัล (Digital talent hub)”  

สำหรับConnectivity excellence hub หัวเว่ยจะลงทุนเพิ่มเติมกับโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูง เพื่อสร้างโครงข่ายในระดับภูมิภาค โดยได้ลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลกับวิศวกรมากกว่า 800 คน เพื่อรองรับการสร้างโครงข่ายชั้นนำให้แก่ไทยสำหรับการใช้งานในภูมิภาคอาเซียน ด้าน Cloud excellence hub หัวเว่ยได้ลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 เพื่อส่งมอบความเร็ว ความปลอดภัยของข้อมูล และบริการหลังการขายที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้บริการคลาวด์ของหัวเว่ยในไทย 

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมีแผนลงทุนด้านศูนย์ข้อมูลในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี2564 โดยมีมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งที่สามสำหรับรองรับการใช้งานเครือข่ายที่ปลอดภัย ตอกย้ำถึงความสำคัญที่หัวเว่ยมีให้ต่อตลาดประเทศไทยและศักยภาพในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

ด้าน Digital ecosystem excellence hub หัวเว่ยได้ลงทุนสร้างศูนย์นวัตกรรมเพื่อรองรับการสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัล ได้แก่ การสร้างศูนย์นวัตกรรม Openlab ในปี 2016 และการสร้างศูนย์นวัตกรรม 5G ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 450 ล้านบาท ในด้าน Digital talent hub หัวเว่ยยังผลักดันการพัฒนาทักษะและทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัลในประเทศไทยผ่านโครงการ Huawei Academy ทั้งนี้ หัวเว่ยจะยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพื่อช่วยสร้างประเทศไทยที่มีความอัจฉริยะ สนับสนุนประเทศสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และกลายเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียนได้สำเร็จ สะท้อนวิสัยทัศน์ของหัวเว่ยที่ต้องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ทุกคน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ