หอการค้าไทยเตรียม 14 พื้นที่ทั่วกทม.นำร่องฉีดวัคซีน

.มีทั้งศูนย์การค้า-ปั๊มน้ำมันรองรับได้วันละ 1-2 พันคน

.พร้อมร่วมมือรัฐประชาสัมพันธ์ให้คนไทยกล้าฉีด

.เจ้าของบริษัทเกือบ 3 พันแห่งอ้อนรัฐซื้อวัคซีนทางเลือก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (28 เม.ย.) คณะกรรมการบริหารหอการค้าไทย ได้เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่นำร่อง โดยนายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานร่วมกันของภาคเอกชน 4 คณะ เพื่อให้ดำเนินการฉีดและกระจายวัคซีน มีความคืบหน้าโดยเร็ว

สำหรับทั้ง 4 ทีม ที่หอการค้าไทย และภาคเอกชนได้ร่วมกันตั้งขึ้นแล้ว มีความคืบหน้าการทำงานดังนี้ 1.ทีมสนับสนุนการกระจายฉีดวัคซีน ระยะแรกจัดเตรียมพื้นที่นำร่องในกรุงเทพฯ 66 แห่ง ผ่านการคัดเลือก 14 แห่ง แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ 2 จุด กรุงเทพใต้ 4 จุด กรุงเทพตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน รองรับประชาชนได้ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ส่วนระยะถัดไป จะหารือถึงการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง และจะนำต้นแบบการทำงานของพื้นที่เอกชนร่วมกับกทม. กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลที่ต้องรับผู้ป่วยปกติด้วย โดยจะทำแผนงานร่วมกันทั่วทั้งประเทศ 

ส่วนทีม 2 ทีมการสื่อสาร โดยสนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนฉีดวัคซีน  ซึ่งจะตั้งคณะทำงานประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE, Google, Facebook, VGI, CP เป็นต้น ขณะที่ทีม 3 คือ ทีมเทคโนโลนีและระบบ จะนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต็ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ในการลงทะเบียน และจองคิวฉีดวัคซีน เช่น กลุ่มปาร์คนายเลิศ เป็นลักษณะการลงทะเบียนและการจองคิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนจาก Web Application เป็น mobile app ได้ รวมถึงการเสนอตัวของ QueQ, Line Application และ Grab  

ส่วนสุดท้าย ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยภาคเอกชนได้ทำแบบสอบถามสำรวจความต้องการในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ล่าสุด ณ วันที่ 28 เม.ย.64 มีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน ซึ่งจะนำส่งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป ซึ่งจะเป็นวัคซีนทางเลือกเสริมจากของภารัฐ  เพื่อช่วยให้สามารถบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ 

“นอกจากแผนการกระจายวัคซีนที่ภาคเอกชนจะสนับสนุนภาครัฐแล้ว ยังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปอีกด้วย ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งภาครัฐให้ความมั่นใจว่า ได้เตรียมการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไว้แล้ว ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การทำสินเชื่อ Factoring, Soft Loan, พักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งคืน เป็นต้น”