หอการค้าไทยหนุนรัฐขยายเพดานหนี้สาธารณะ 70%

.ย้ำกู้เงินเพิ่มจำเป็นมากเพื่อพยุงเศรษฐกิจประเทศ

.ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจอาจเสียหายมากกว่าที่คิด

.มั่นใจไม่กระทบเสถียรภาพการคลังของรัฐบาล

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% จากเดิม 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะ และการก่อหนี้เพิ่ม มีความจำเป็นมากในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยบอบช้ำมาหลายระลอก จึงต้องอัดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเพื่อแก้ปัญหา คิดเป็นเม็ดเงินเท่ากับที่สูญเสียไปจากผลกระทบของโควิด ขณะเดียวกัน ต้องฟื้นฟูภาคธุรกิจและประชาชนด้วย อีกทั้งหากพิจารณาในต่างประเทศ ก็มีการขยายเพดานเช่นกัน

ทั้งนี้ หอการค้าไทย เคยคาดการณ์ว่า ตั้งแต่ต้นปี 64 จนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท และในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการต่างๆ จำนวน 500,000 ล้านบาท และต้นปี 65 อีก 500,000 ล้านบาท แต่การกู้เงินเพิ่มจะต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ เพราะขณะนี้รัฐบาลยังเหลือกรอบเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท อีกกว่า 420,000 ล้านบาท ที่ยังใช้ได้อยู่

“ขณะนี้ หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 55.59% ของจีดีพี ใกล้กับเพดานหนี้เดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% เอกชนมองสอดคล้องกับรัฐบาลว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเพดานหนี้ เพื่อช่วยให้มีโอกาสออกฎหมายกู้เงินสำหรับใช้รับมือโควิด และกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลออย่างหนัก เพราะถ้าไม่เนินการในส่วนนี้อาจจะเกิดความเสียหายมหาศาล หากธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต้องปิดกิจการถาวร ซึ่งจะกระทบต่อภาคแรงงานหลายล้านคนในประเทศ และอาจต้องใช้เม็ดเงินมากกว่าเงินกู้หลายเท่าตัว ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น”

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลการขยายเพดานหนี้สาธารณะและการก่อหนี้เพิ่ม จะกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาลนั้น นายสนั่น กล่าวว่า ภาคเอกชนยังคงเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการคลังของไทย โดยไทยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี และหลายประเทศก็มีการขยายเพดานหนี้สาธารณะ เพราะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินในการกู้เศรษฐกิจให้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย มีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจว่า ในระยะเร่งด่วน ต้องทำให้ผู้ประกอบการกลับมาเดินหน้าได้ โดยต้องเพิ่มกำลังซื้อ และเสริมการลงทุน ควบคู่ไปกับการเพิ่มการป้องกันและความสามารถในทางสาธารณสุขไทย ส่วนระยะกลางและยาว ต้องแสวงหาโอกาสของประเทศไทย ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ โดยปีหน้า ต้องทำให้จีดีพีไทยเติบโต 5-7% เพื่อเสริมจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และสิ่งที่สำคัญ คือ การใช้เงินของภาครัฐ โดยเฉพาะเงินที่กู้มา จะต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ชัดเจนและโปร่งใส ตรวจสอบได้