หอการค้าไทยวิงวอนรัฐฉีดวัคซีนแรงงานภาคผลิต

.ล่าสุดฉีดได้แค่ 2.5 ล้านคนจากทั้งหมดเกือบ 11 ล้านคน

.ติดโควิด-กักตัว-ปิดสายผลิตต่อเนื่องจนกระทบส่งออก

.ถ้าไม่เร่งฉีดโดยด่วนมีหวังส่งออก-เศรษฐกิจไทยดิ่งแรง

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก เพราะแรงงานจำนวนมาก ติดเชื้อโควิด ทำให้ต้องหยุดการผลิตบางส่วนชั่วคราว เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้กว่า 10 ล้านคน ทั้งไทย ต่างด้าว ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และนอกระบบ รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ฉีดแล้วเพียง 2.5 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งผลกระทบเริ่มเห็นแล้วจากมูลค่าการส่งออกไทยเดือนก.ค.64 แม้ขยายตัวกว่า 20% แต่ชะลอลงจากเดือนมิ.ย.64 ที่ขยายตัวกว่า 40%

ดังนั้น จึงเสนอมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ได้แก่ จัดสรรวัคซีนให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปในจังหวัดใกล้เคียงและควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด รวมถึงจัดสรรให้แรงงานทุกภาคส่วน ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วย, สนับสนุนโครงการ Factory Sandbox โดยต้องเร่งขับเคลื่อนจับคู่ระหว่างสถานประกอบกิจการ โรงพยาบาล และภาครัฐในพื้นที่, เร่งรัดจัดหาเตียงสำหรับแรงงานที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะเตียงสีเหลืองและสีแดง เพราะเตียงสีเขียว โรงงานแต่ละแห่งทำอยู่แล้ว จากการทำบับเบิล แอนด์ ซีล ภายในโรงงาน

นอกจากนี้ ขอให้รัฐเร่งจัดสรรวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ รวม 1.3 ล้านคน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่อนผันให้ทำงานต่อไปในไทยหลังใบอนุญาตการทำงานหมดอายุแล้ว และจับคู่แรงงานดังกล่าวกับนายจ้าง เพื่อให้แรงงานเข้าสู่ระบบโดยเร็ว และรัฐต้องจัดตั้งทีม ไทยแลนด์ ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อศึกษาแนวทางการนำเข้าและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใหม่ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น 500,000 คน และศึกษาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้เอ็มโอยู ตามมาตรการของสาธารณสุข

“ตอนนี้ ยังเหลือแรงงานอีกนับล้านคน ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงขอวิงวอนให้ภาครัฐ จัดสรรวัคซีนให้ภาคการผลิตโดยด่วน ถ้าคุมไม่ได้ หยุดการแพร่ระบาดไม่ได้ ภาคการผลิต การส่งออก และเศรษฐกิจไทย ที่อาศัยภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเดียว จะได้รับผลกระทบแรง”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะอาหารทะเล และอาหารสำเร็จรูปนั้น จนถึงขณะนี้ ยังไม่ทำให้ลูกค้าต่างประเทศ ขาดความเชื่อมั่น และยกเลิกสั่งซื้อสินค้าจากไทย เพราะไทยมีมาตรการป้องกัน และแก้ปัญหาอย่างดี โดยเฉพาะโรงงานทำบับเบิล แอลนด์ ซีล (Bubble and Seal) และยกระดับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้นภายใต้โครงการ Factory Sandbox นำร่อง 15 โรงงานอาหาร สำเร็จรูป อาหารประป๋อง อาหารสัตว์ ฯลฯ ที่จ.สมุทรสาครก่อน โดยจะตรวจหาเชื้อกับแรงงานทุกคน ถ้าพบจะแยกกักตัว และรักษาตามอาการระดับเขียว เหลือง แดง มีการควบคุมการเดินทางไปกลับของแรงงาน มีแผนที่ ถ้าเป็นรถส่งพนักงาน จะมีหมายเลขที่นั่งของแต่ละคน เป็นต้น

“มาตรการแก้ปัญหาของภาคการผลิต อย่าง บับเบิล แอนด์ ซีล และ Factory Sandbox อยากให้ภาครัฐกำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ซึ่งถ้าสำเร็จ และลดจำนวนแรงงานติดเชื้อได้ ควบคุมการระบาดได้ จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากขึ้น แต่แรงงานทุกส่วน ทุกจังหวัดต้องได้ฉีดวัคซีนโดยเร็วด้วย”