หอการค้าไทยจี้รัฐเยียวยาผู้รับผลกระทบทุกกลุ่มหลังล็อกดาวน์ 14 วัน

  • เสนอเพิ่มเงินคนละครึ่ง-ปรับมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้
  • หวังเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อลมหายใจธุรกิจ
  • จัดสรรวัคซีนให้ 25 ศูนย์ฉีดเอกชน-ใช้ Rapid Test หาเชื้อเชิงรุก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน, นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง, เลขาธิการสภาพัฒน์, ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า ได้แจ้งให้ทราบถึงผลประชุมในเวที 40 CEOs (พลัส) ที่เป็นกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด สถานการณ์ทางสาธารณสุข และสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยขอให้รัฐบาลรีบออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ภายกลังการยกระดับมาตรการคุมเข้มในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ซึ่งรองนายกฯ จะนำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปหารือต่อในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ต่อไป

“ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ หอการค้าไทย เห็นด้วย แต่อยากให้เพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้มากขึ้น อย่าง คนละครึ่ง อยากให้เพิ่มเป็น 6,000 บาท จาก 3,000 บาท, ปรับเงื่อนไข “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ให้ใช้ได้ง่ายขึ้น ไม่ยุ่งยาก หรือฟื้น “ช้อปดีมีคืน” คือให้สามารถใช้จ่ายได้ทั้งก้อน และนำใบเสร็จในการซื้อสินค้าไปลดหย่อนภาษีปลายปีได้ ซึ่งจะกระตุ้นทำให้คนมีฐานะ เข้ามาใช้โครงการมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังได้รายงานว่า ได้หารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอแนะปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ขอขยายมาตรการให้ครอบคลุมถึงเงินใหม่ที่ให้เพิ่ม เพื่อนำมาหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง , ใช้มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ร่วมกับ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู, ลดเงื่อนไขและข้อจำกัดของการตีโอนทรัพย์เพื่อพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อทำให้กลไกตลาดทำงานและการเจรจาตกลงได้, ให้กลุ่มลูกหนี้เดิมนำหลักทรัพย์ใหม่ๆ มาเป็นหลักประกันได้ และลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินได้สะดวกมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ได้เสนอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้สถาบันทางการเงินสามารถใช้ดุลพินิจในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น โดยเสนอให้ปลดล็อกเรื่องเครดิตบูโร หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพื่อให้เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดนี้ ยิ่งต้องมีการดูแลผ่อนผัน เพื่อให้สถานการณ์ฟื้นตัวกลับมาโดยเร็ว

นายสนั่น กล่าวอีกว่า ยังขอให้ภาครัฐพิจารณาใช้ประโยขน์จากศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลของเอกชนทั้ง 25 ศูนย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกประชาชน และช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล เพราะสามารถรองรับการฉีดได้มากถึง 80,000 โดสต่อวัน แต่ปัจจุบัน ทั้ง 25 ศูนย์ ได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยมาก วันละเพียงหลักร้อยคนเท่านั้น จากในช่วงแรกๆ มากถึงวันละ 2,000-3,000 คน

พร้อมกันนั้น ต้องการให้ภาครัฐตรวจหาเชื้อเชิงรุกโดยใช้ Rapid Test ที่ได้มาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้ และแยกคนติดเชื้อออกมาจากคนไม่ติดเชื้อแบบที่หลายๆ ประเทศได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการจำกัดการเคลื่อนย้ายของคน รวมถึงลดความแออัดของประชาชน ที่ขณะนี้ไปรวมกันที่จุดตรวจต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

“เราต้องเร่งควบคุมการระบาดของเชื้อที่ กรุงเทพฯ ให้ได้เร็วที่สุด เพราะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นที่จุดสำคัญของการเปิดประเทศได้ในลำดับต่อไป ที่สำคัญคือ การทำโครงการ Digital Vaccine Passport ซึ่งรองนายกฯ เห็นด้วย และได้มอบหมายให้นายทศพร ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว”