หวั่นเข้า“ซีพีทีพีพี”ธุรกิจยักษ์ผูกขาดสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรใหม่

.หลัง “ดอน” เดินหน้าลุยทำกรอบเจรจา-แจ้งสมาชิก

.”ไบโอไทย”ยันซีพีทีพีพีเปิดช่องฮุบพันธุ์-ยาฟ้าทะลายโจร

.เกษตรกรต้องซื้อพันธุ์มาปลูกถ้าพบละเมิดถูกยึดผลผลิต

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาเตรียมจัดทำกรอบการเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ไทยเข้าร่วมการเจรจา และเตรียมการแจ้งสมาชิกซีพีทีพีพีทั้ง 11 ประเทศ 

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ หารือกับองค์กรผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกครั้ง หลังจากที่องค์กรผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม คัดค้านการเข้าร่วม เพราะจะก่อให้เกิดผลเสียกับไทยมากกว่าผลดี โดยให้กระทรวงพาณิชย์ รายงานผลการทำความเข้าใจกับองค์กรผู้บริโภค และผลดีของการเข้าร่วมให้กนศ.ทราบด้วย 

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไทยจะเข้าร่วมซีพีทีพีพีนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ยืนยันมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาว่า กระทรวงพาณิชย์จะไม่ผลักดัน หรือนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ยังเป็นปัญหา เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การจัดซื้อโดยรัฐ ยาและสิทธิบัตร เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากเพจไบโอไทย (มูลนิธิชีววิถี) ระบุว่า ขณะนี้ สมุนไพรฟ้าทะลายโจรของไทย ได้รับความนิยมมาก เพราะใช้ทำยาต้านไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ทั้งของไทยและต่างประเทศ เข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตยาฟ้าทะลายโจรมากขึ้น จนเกิดความกังวลว่า จะครอบครองสิทธิในสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจร หลังจากได้ปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ ให้มีเปอร์เซ็นต์ของสารแอนโดรกราโฟไลด์ และอนุพันธ์ตั้งแต่ 9-14% เพื่อนำมาผลิตยารักษาโควิด-19 

ทั้งนี้ หากไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพี ไทยจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (ยูพอฟ) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ปรับปรุงสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรและขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว จะได้รับความคุ้มครองพันธุ์ใหม่ และจะได้สิทธิผูกขาดในสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรใหม่ รวมถึงได้อำนาจผูกขาดผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพันธุ์ฟ้าทะลายโจรใหม่ด้วย 

ดังนั้น เกษตรกร หรือชุมชนจะนำไปขยายพันธุ์ต่อไม่ได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หรือต้นพันธุ์จากบริษัทที่ขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าของทุกครั้ง และเมื่อใดก็ตามที่บริษัทเห็นว่า สายพันธุ์ที่เกษตรกรนำมาปลูก ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง ก็สามารถยึดผลผลิต หรือยาฟ้าทะลายโจรได้ทั้งหมด เพราะถือว่าละเมิดสิทธิ อีกทั้งหากเกษตรกร นำเมล็ดพันธุ์หรือต้นพันธุ์ของบริษัท ไปปลูกต่อจนเกิดการกลายพันธุ์ แต่มีลักษณะสำคัญของพันธุ์ฟ้าทะลายโจรที่บริษัทขึ้นทะเบียนไว้ สายพันธุ์เหล่านั้นจะยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทอยู่ดี จึงทำให้บริษัทสามารถยึดครองสายพันธุ์สมุนไพร และผูกขาดยาจากสมุนไพรไทยได้ โดยคาดว่า ตลาดยาฟ้าทะลายโจรขณะนี้มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท และคาดจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3,000 ล้านบาทในอีก 3 เดือนหากสถานการณ์การระบาดยังยืดเยื้อ