“หมอยง” เผยโควิด-19 กับการเข้าสู่โรคประจำถิ่น – พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตราย

  • ชี้ขณะนี้การรายงานยอดผู้ป่วยต่ำกว่าความเป็นจริง
  • เหตุมีจำนวนมากที่ติดเชื้อด้วยการตรวจเอง ไม่รุนแรง และไม่ได้ลงทะเบียน
  • เผยการเข้าสู่โรคประจำถิ่น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เอารายชื่อโรคโควิด 19 ออกจากบัญชีโรคติดต่ออันตราย

วันนี้ (11 มิ.ย.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

โควิด 19  การเข้าสู่โรคประจำถิ่น หรือประจำฤดูกาล กับ พรบ โรคติดต่ออันตราย 

ยง ภู่วรวรรณ  11 มิถุนายน 2565

ขณะนี้การรายงานยอดผู้ป่วย ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะมีจำนวนมาก ที่มีการติดเชื้อด้วยการตรวจเอง ไม่รุนแรง ไม่ได้ลงทะเบียน ไม่ทราบว่าจะมียอดจำนวนเท่าไหร่ และไม่ได้แจ้ง 

การเข้าสู่โรคประจำถิ่น สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือจะต้องเอารายชื่อโรคโควิด 19 ออกจากบัญชีโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ 

โควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ในพระราชบัญญัติ ขณะนี้เราทำผิดกฎหมายกันมาก ตามกฎหมายฉบับนี้โรคติดต่ออันตราย จะต้องแจ้งให้หน่วยงานที่ควบคุมดูแล ทราบอย่างรวดเร็ว ผมเข้าใจว่าภายในเป็นชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่ควรเกิน 24 ชั่วโมง 

ในความเป็นจริงขณะนี้ ผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมาก หรือมีอาการน้อย ไม่ได้แจ้งหรือลงทะเบียน ก็จะเป็นการทำการผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว

โรคโควิด 19 จะต้องเปลี่ยนจากโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และมีแนวทางการปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 55 โรค

ในช่วง ที่โรคโควิด 19 อยู่ในมาตรการที่เข้มข้น ตามกฎหมายของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุม เราจึงจำเป็นต้องใช้ พรก ฉุกเฉินเข้ามาช่วย

เราต่อสู้มานานถึง 2 ปีกว่า และขณะนี้ทุกคนมีภูมิต้านทานอยู่ในระดับหนึ่ง และเคยติดเชื้อไปแล้วจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอสมควร ในการที่จะให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นหรือประจำฤดูกาลเหมือนโรคทางเดินหายใจอื่นๆ กฎเกณฑ์ต่างๆก็คงจะต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม และความยอมรับของประชาชนทั่วไป รวมทั้งความเป็นอยู่ การเรียนการสอนของนักเรียน และจะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย 

การปิดเรียนของนักเรียนก็เช่นเดียวกัน ในอนาคตอันใกล้นี้แนวทางการปฏิบัติ ก็คงต้องคล้ายคลึงกับโรคทางเดินหายใจอื่น เช่นไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก ที่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง