“หมอประสิทธิ์”ระบุ “โอมิครอน” ทำโควิดเข้าสู่จุดจบการระบาด แนะเลิกตรวจหาเชื้อ

  • เลิกวิเคราะห์วิกฤติอย่างลึกซึ้ง
  • ชี้เป็นสายพันธุ์ที่ก่อโรคไม่รุนแรง
  • การฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น

วันที่ 13 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงเรื่อง 3P Safety for Resilience in Healthcare ในการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ครั้งที่ 22 ว่า เรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 กำลังเข้าสู่ปลายทางการระบาด โดยสายพันธุ์ที่ระบาดขณะนี้คือสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งดูเหมือนน่ากลัวเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังวิ่งขึ้น แต่สุดท้ายจะไปสู่กระบวนการเลิกตรวจหาเชื้อ ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศเลิกตรวจแล้ว เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ก่อโรคไม่รุนแรง ดังนั้นเมื่อโรคไม่รุนแรง เมื่อมีการติดเชื้อ 2 สัปดาห์ก็จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเอง บวกกับการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น จึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่เชื้อฯ จะจัดการตัวเองแล้วโรคก็ค่อยๆ สงบลง

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ เรื่องการสร้างความปลอดภัยในภาวะวิกฤติ ไม่เฉพาะวิกฤติการระบาดของโควิดเท่านั้น แต่หมายถึงทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นที่ล้วนมีโอกาสเกิดความสำเร็จ หรือล้มเหลว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งด้านดีและด้านลบ ดังนั้นจึงอยู่ที่กระบวนการความคิดของผู้เกี่ยวข้อง ต้องวิเคราะห์วิกฤตินั้นอย่างลึกซึ้ง รอบด้านครอบคลุมทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม มองถึงปัญหาหรือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วกำหนดยุทธวิธี หรือหาคำตอบในการแก้ไขปัญหาที่มากกว่าสิ่งที่ทำอยู่ปกติ โดยคุยกับคนไข้ หารือร่วมกันของบุคลากร และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมด้วย เพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับวิกฤติและสร้างความปลอดภัย ไม่ให้โรคต่างๆในสถานพยาบาลสร้างผลกระทบกับสังคมภายนอก ดังนั้น อยากจะชวน สรพ. หรือกระทรวงสาธารณสุขทบทวนเรื่องเหล่านี้

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหรืออยู่ในระยะฟื้นตัวจะต้องดีกว่าเดิม อย่าอิงกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะโรคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การแข่งขันของคนกับจุลชีพ จุลชีพไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม แม้กระทั่ง NCDs ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง มีความซับซ้อนขึ้น ไหนๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยเฉพาะระบบสุขภาพ หากเปลี่ยนแปลงฟื้นตัวก็ต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม”