หนี้ครัวเรือน

  • ค้นหาความหมายของหนี้ครัวเรือน
  • ไม่ถึง 80% ของจีดีพี ไม่ต้องห่วง

ทุกครั้งเมื่อมีการรายงานยอดหนี้ครัวเรือน ของ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ก็มักจะเป็นข่าวฮือฮากันเสมอ ว่า “หนี้ครัวเรือน”มีจำนวนสูงขึ้น 

เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ก็รายงานว่า เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 นี้ ยอดหนี้ครัวเรือนมีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8 เปอร์เซ็นต์ ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 6. 30 จากเมื่อสิ้นไตรมาสแรก เมื่อนำไปเทียบกับรายได้ประชาชาติจะอยู่ที่ร้อยละ 78.7 เท่าๆ กับไตรมาสที่แล้ว

ถ้าดูจากยอดรวมของหนี้ครัวเรือนระดับนี้ ก็ยังถือว่า ปรกติ ยังไม่ถึงระดับที่น่าห่วง คือในระดับที่เกินร้อยละ 80 ของรายได้ประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำชะลอตัว  มีภาพเศรษฐกิจในอนาคตที่ไม่สดใส เพราะ เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ชี้ไปในทางลดลงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การลงทุนของภาคเอกชน การใช้กำลังการผลิต การจ้างงาน ราคาสินค้าอุป โภคบริโภค รวมถึงความเชื่อมั่นในเรื่องรายได้ของครัวเรือน

  • รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
  • ทรัพย์สินครัวเรือนก็ควรจะสูงด้วย

การรายงานเพียงตัวเลขหนี้สินของครัวเรือน โดยไม่ได้รายงานทางด้านทรัพย์สินของครัวเรือน และรายได้ของครัวเรือนด้วย จะทำให้เห็นภาพไม่ชัด เจน เพราะในขณะที่หนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทรัพย์สินของครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะเมื่อเจาะลึกลงไปอีกก็พบว่า หนี้ของครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ผ่อนส่งรถยนต์ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถปิกอัพ หรือ รถบรรทุกเล็ก ซึ่งเป็นทั้งสินค้าบริโภคคงทน หรือ consumer durable goods และสินค้าทุน เพราะใช้ในการขนส่งวัตถุดิบ และขนส่งสินค้าสำเร็จรูปไปส่งที่ตลาดหรือลูกค้า ซึ่งมีลักษ ณะเป็นสินค้าทุน หรือ capital goods 

หนี้สินประเภทนี้ไม่ใช่หนี้สินที่น่าห่วง ยิ่งครัวเรือนมีรายได้พอที่จะดูแล หนี้ของครัวเรือน หรือมีความสามารถที่จะชำระหนี้ของครัวเรือนได้ก็ยิ่งไม่น่าห่วง ยิ่งเศรษฐกิจเจริญขึ้นเท่าไหร่ หนี้สินประเภทนี้ก็จะสูงขึ้น ถ้าจะให้ได้ภาพ ที่ชัด เจน ควรรายงานมูลค่าทางด้านทรัพย์สินด้วย คือ เอาหนี้สินของครัวเรือน หักด้วยทรัพย์สินของครัวเรือน ส่วนต่างเช่นว่าฝรั่งเรียกว่า networth หรือ เราอาจจะเรียกว่า “ทรัพย์สินสุทธิ” ก็น่าจะได้ 

  • รายงานแต่หนี้ครัวเรือนทำให้ตกใจ
  • ขณะที่“หนี้นอกระบบ”น่าตกใจกว่า

นอกจากเครื่องจักรกลที่ใช้ประกอบอาชีพ ก็ยังมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บ้านพักอาศัย ซึ่งบางทีก็ใช้เป็นบ้านตัว หรือใช้เป็นโรงงานขนาดย่อมด้วย รวม ทั้งทีวี โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ รวม แล้วน่าจะมีมูลค่าสูงกว่าหนี้สินของครัวเรือนก็ได้

ดัชนีที่ใช้วัดระดับหนี้สินของครัวเรือนอีกตัวหนึ่งก็คือ ยอดหนี้ของครัวเรือน เมื่อเทียบกับรายได้ของครัวเรือน ซึ่งขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ

การรายงานหนี้ของครัวเรือนที่ทำให้ตกใจ ทั้งๆที่ไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ คือ “หนี้นอกระบบ” ซึ่งประเทศไหนก็มี ยิ่งระดับการพัฒนาต่ำเพียงใด 

สัดส่วนของหนี้นอกระบบ เมื่อเทียบกับหนี้ในระบบของครัวเรือน ก็จะสูงขึ้นเพียงนั้น และเนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่ง และ พาณิชย์ กำหนดมิให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15  ทั้งๆที่หนี้นอกระบบส่วนใหญ่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน และหรือรายได้เพียงพอ หรือคุณสมบัติไม่ดีพอที่จะมีผู้ค้ำประกันหนี้ในระบบได้ 

  • หนี้นอกระบบซ้ำซ้อนกับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
  • ดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด

การกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 15 จึงทำให้หนี้นอกระบบทั้งหมดเป็นหนี้ที่ผิดกฎหมาย นำขึ้นฟ้องร้องไม่ได้ เพราะเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพดานดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็นคุณ กลับเป็นโทษสำหรับคนจนที่บางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้ 

เพราะการบังคับให้ชดใช้หนี้มักทำโดยการใช้กำลัง ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบสูงเกินธรรมชาติไป เพราะต้องเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย ทั้งๆที่หนี้ในระบบสามารถคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ได้

ความจริงแล้วสินเชื่อในระบบในระดับหมู่บ้าน หรือในระดับธุรกิจรายย่อย และธุรกิจในครัวเรือน มีอยู่มากมาย และซ้ำซ้อนกันด้วยซ้ำ เช่น สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ บรรษัทเงินทุนเพื่ออุตสาหกรรมรายย่อย ธนาคารออมสิน กองทุนหมู่บ้าน 

ประเทศไทยจัดได้ว่า เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการจัดให้มีสินเชื่อในชน บท จัดสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมรายย่อยได้อย่างทั่วถึง ไม่นับอุตสาหกรรมรายย่อยที่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ที่ผลิตส่งต่อให้บริษัทผลิตหรือประกอบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป เราจึงไม่มีปัญหาเรื่องแรงงานมากนัก 

เพราะแรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำงานอยู่ที่บ้านในภาคเกษตรในชนบท แรงงานในภาคอุตสาหกรรม กับแรงงานในภาคเกษตร จึงยังไม่ได้แยกกันเด็ดขาดทั้งหมด หนี้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่หนี้เพื่อการบริโภค แต่อาจจะเป็นหนี้ลงทุนเพื่อการผลิต เหมือนๆกับหนี้ของบริษัทห้างร้านที่เป็นทั้งหนี้เพื่อการลงทุนและหนี้เพื่อใช้ในการหมุนเวียน ที่อยู่ในภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและขนส่งซึ่งทำโดยครัวเรือน

  • หนี้ครัวเรือนเกี่ยวพันกับวงจรชีวิต
  • ควบคู่กับการบริโภคและการออม

เนื่องจากในภาคเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนในระบบมีมากพอ หนี้นอกระบบของครัวเรือนจึงไม่น่าจะมีมาก เนื่องจากเป็นหนี้ที่ผิดกฎหมาย ฟ้องร้องไม่ได้ ทำสัญญาก็ไม่ได้ เพราะเพดานดอกเบี้ยที่กำหนดโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้ที่ร้อยละ 15 เราจึงไม่ทราบว่ามีมากน้อยเพียงใด ที่นาบ้านช่องถูกยึดไปเพราะหนี้นอกระบบที่ทำเป็นสัญญา“ขายฝาก”ที่ควรจะยกเลิกไปนานแล้ว 

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายการบริโภค และการออมระยะยาว หรือ life cycle ซึ่งเกี่ยวพันกับหนี้ของครัวเรือน สำหรับคนในเมืองที่แยกครอบครัวออกจากบิดามารดา 

ในช่วงเริ่มทำงานอายุประมาณ 20-30 ปี จะเริ่มสามารถก่อหนี้ได้ เพราะมีงานทำเป็นหลักแหล่ง ซื้อบ้านผ่อนส่ง ซื้อรถยนต์ จากนั้นก็สะสมไว้เป็นค่าสินสอดแหวนหมั้น แต่งงานมีลูก ส่งลูกเข้าโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย การใช้จ่ายจึงมักจะสูงกว่ารายได้ หนี้ของครัวเรือนก็จะมีระดับสูง 

ขณะเดียวกันทรัพย์สินที่เป็นสินค้าทุน และ สินค้าคงทนเพื่อการบริโภคก็จะสูงขึ้นด้วยทรัพย์สินสุทธิ หรือ networth ที่เริ่มจากติดลบจะค่อยๆ กลับมา เป็นบวก เมื่อเวลาผ่านไปสามารถผ่อนส่งจนหนี้สินลดลง หมดหนี้สินเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน เช่น อายุเกินกว่า 60-65 ปีขึ้นไป หนี้สินของครัวเรือนจึงสะท้อนถึงโครงสร้างอายุของประชากรในสังคมด้วย

  • เกษตรกรในเขตชลประทานเท่านั้นที่อยู่ได้
  • รัฐควรยกเลิกประกันราคา และจำนำราคา

สำหรับภาคเกษตรของเรา ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการเกษตร และ สหกรณ์การเกษตร เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและเข้าถึงโครงการสุขภาพดีทั่วหน้า หรือ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” มีจำ นวนน้อยเท่านั้นที่เข้าไม่ถึง ธุรกิจในครัวเรือน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง ทำของส่งบริ ษัทก็สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ซึ่งเป็นเกษตรกรในเขตชลประทาน ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ประมาณร้อยละ 25 ของเกษตรกรทั้งหมด 

สำหรับเขตเกษตรน้ำฝน โดยโครงการพระราชดำริ แบ่งเนื้อที่ขุดบ่อปูพลาสติกตามแนวทางพัฒนาพื้นที่ในเขตชนบทยากจน ก็สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วงได้ การผลิตข้าวคุณภาพดี เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาวตาแห้งและข้าวเสาไห้ รวมทั้งการยกเลิกโครงการประกันราคาและโครงการรับจำนวนข้าว ทำให้ชาวนาเพิ่มการปลูกข้าวคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดภายในและภายนอกมากขึ้น 

แม้ไม่มีโครงการประกันราคาข้าวและรับจำนำข้าว ปริมาณการส่งออก ก็ไม่ได้ลดลง กลับเพิ่มขึ้นถึงกว่า 10 ล้านตัน เพราะโครงการต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ทำให้ราคาข้าวทั้งต้นฤดู และปลายฤดูเพิ่มขึ้น 

การสงเคราะห์เกษตรกรผู้ผลิตข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย และน้ำตาล โดยการโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง ถึงแม้จะมีการรั่วไหลบ้าง แต่ก็ส่งถึงชาวไร่ชาวนาชาวสวนได้โดยตรง มีประสิทธิภาพมากกว่านโยบายประกันราคา และนโยบายจำนำข้าวซึ่งสูญเปล่า ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับโรงสีพ่อค้าคนกลาง และผู้ส่งออกเสียเป็นส่วนใหญ่

  • ระยะยาวต้องลดจำนวนเกษตรกร
  • ผลิตสินค้าเกษตรเฉพาะราคาแพง

ในระยะยาวจริงๆ ควรจะมุ่งไปในทางลดจำนวนเกษตรกรลง เพราะประเทศไทยหมดความได้เปรียบเชิงเทียบ comparative advantage ในการส่งออกสินค้าเกษตรประเภทพืชไร่ให้กับเพื่อนบ้าน แล้วที่สำคัญการพัฒนาต่ำกว่าเรา เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาวแล้ว เพราะต้นทุนของเขาต่ำกว่าของเรามาก อีกทั้งราคาที่ดินของเราก็มีราคาแพงกว่าเขามาก

พื้นที่ในเขตชลประทานจำนวนมากกลายเป็นพื้นที่ตั้งโรงงาน ที่อยู่อาศัย และธุรกิจอย่างอื่นแทนพื้นที่เกษตรกรรมไปแล้ว นโยบายชดเชยการผลิตสินค้าเกษตรกรรมควรจะลดลง และก็หันมาใช้งบประมาณนอกภาคเกษตร non agricultural แบบญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี หรือไม่ก็ผลิตสินค้าเกษตรที่มีราคาแพงได้แล้ว

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ไม่มีตัวเลขทรัพย์สินสุทธิ รวมทั้งทรัพย์สินที่เป็นทุนหรือสินค้าบริโภคที่คงทน รวมทั้งหนี้สินที่ต้องใช้ในยามจำเป็น เช่น ในช่วงเจ็บป่วย จึงกลายเป็นตัวเลขที่ไม่มีความหมายอะไร

หนี้ครัวเรือนอย่างเดียวคงไม่ได้บอกอะไร