หนี้ครัวเรือน vs หนี้เสีย …หนี้คนไทยไปไม่รอด

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้รายงานสถานะของ “หนี้ครัวเรือน” ของคนไทย ว่ายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

โดยตัวเลขล่าสุด ณ สิ้น ไตรมาส 4 ของ ปี 2563 พบว่าครัวเรือนไทยมีหนี้สินรวมกันทั้งสิ้น 14.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.9 %จากระยะเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)

ซึ่งหากเทียบกับกับไตรมาสก่อนหน้า ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม การชะลอลงของหนี้ครัวเรือนในไตรมาสนี้ เป็นการชะลอลง เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากครัวเรือนระมัดระวังในการก่อหนี้มากขึ้น  ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากครัวเรือนส่วนหนึ่งไม่สามารถที่กู้เงินเพิ่มขึ้นได้ 

ขณะที่แนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 สภาพัฒน์คาดว่ายังอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว  และครัวเรือนต้องประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงาน โดยคาดว่าความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น   

นอกจากนั้น เนื่องจากการเข้าถึงหนี้สินในระบบเริ่มยากมากขึ้น ทำให้ต้องเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองแนวโน้มหนี้ครัวเรือนว่าอยู่ในทางสองแพร่ง เพราะในทางหนึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เลวร้ายอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้น  โดยเราอาจจะมีโอกาสเห็นหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 18.1 ล้านล้านบาท หรือ 92.8% ของจีดีพีภายในปีนี้  

แต่ในทางตรงกันข้าม หากสถาบันการเงินเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ ตัดหนี้สูญ และจำกัดการก่อหนี้ในระยะต่อไป จะช่วยให้มูลค่าของหนี้ครัวเรือนลดลงมาได้ 2.7 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 15.4%ล้านล้านบาท หรือ 79.1%ของจีดีพี ซึ่งก็ยังเป็นระดับที่สูงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ หรือเกินความคาดหมาน เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยนั้น สูงกว่า 80% ของจีดีพี ต่อเนื่องมาหลายไตรมาสแล้ว และสะท้อนความเปราะบางของสถานะทางการเงินของครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  

นอกจากนั้น ยังเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งทำให้การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และการกลับทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจล่าช้ากว่ากำหนด กำลังซ้ำเติมให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลงมาก และขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากลูกหนี้ส่วนหนึ่งมีกระแสเงินสดที่ลดลงมาก รวมทั้งจำนวนคนตกงานมีจำนวนมากขึ้น

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในช่วงนี้ ธปท.ได้ออกมาเร่งรัดให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ ให้กับลูกหนี้มากขึ้นตั้งแต่ที่ลูกหนี้ยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)  โดยเฉพาะหนี้รายย่อย รวมทั้ง ในมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ล่าสุด ที่เปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถ “คืนรถ” ที่ผ่อนส่งได้ เพื่อตีโอนตัดชำระหนี้

นอกจากนั้น  อีกประเด็นหนึ่งที่สภาพัฒน์และธปท.มีความกังวลตรงกัน คือ “ตัวเลขสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ” หรือสินเชื่อที่ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ 1 เดือน แต่ยังไม่ถึง 3 เดือน ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.65% ของสินเชื่อรวม ในไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ของสินเชื่อรวม หากเป็นสินเชื่อที่ขาดส่งตั้งแต่ 1 วันแต่ยังไม่ถึง 3 เดือน 

และที่สำคัญคือ สินเชื่อที่ขาดส่งมากที่สุดเป็นอันดับแรกในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ธปท.พบว่า เป็นสินเชื่อในหมวดสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 30.12% ของสินเชื่อที่ผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด โดยมีหนี้ที่ผิดนัดชำระทั้งสิ้น 334,100 ล้านบาท 

โดยลูกหนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ ลูกหนี้ที่ผ่อนบ้าน และผ่อนรถ ซึ่งพบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยผิดนัดชำระหนี้ 134,523 ล้านบาท หรือ 12.13%  ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ผิดนัดชำระหนี้ 114,791 ล้านบาท หรือ 10.35% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ผิดนัดทั้งสิ้น 66,420 ล้านบาท หรือ 5.99% และสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ในอัตราที่น้อยที่สุด คือ  18,366 ล้านบาท หรือ 1.66%

ส่วนสินเชื่อในหมวดอื่นที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในอัตราที่สูง ประกอบด้วย สินเชื่อในภาคการผลิต มีหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ในไตรมาส 1 ปีนี้ ทั้งสิ้น 233,171 ล้านบาท หรือ 21.02% ของหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้รวม สินเชื่อเพื่อการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์  มีหนี้ที่ผิดนัดทั้งสิ้น 208,970 ล้านบาท หรือ 18.84 % และสินเชื่อในภาคการบริการ มียอดหนี้ที่ผิดนัดทั้งสิิน 134,028 ล้านบาท หรือ 12.08% 

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงหนี้ภาคครัวเรือนไทยที่เปราะบางมากขึ้นเช่นกัน โดยพบว่า คนไทยมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูง และสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าประเทศอื่น ๆ  และหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้อุปโภคบริโภคที่อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ภาระผ่อนชำระต่อเดือนสูง 

โดยปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ได้ซ้ำเติมรายได้และฐานะทางการเงิน ทำให้ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะชำระคืนหนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะรายได้ลดลง และส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม

สถานการณ์บีบรัดดังกล่าว ทำให้ในอนาคตของการชำระหนี้แย่ลงอีก หากการระบาดของโควิด-19 ลากยาวจากนี้ไปเกินกว่า 3 เดือน  โดยมีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเห็น ปรากฎการณ์การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหนี้ที่เริ่มขาดผ่อนส่งเหล่านี้ จะขาดส่งต่อเนื่องจนครบ 3 เดือน  ซึ่งทำให้ถูกลดระดับและกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่สายป่านของครัวเรือนไทยสั้นลงเรื่อยๆ จากการระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวมากว่า 1 ปีครึ่ง เราจะได้เห็นการยึดรถ หรือที่ร้ายกว่านั้น คือ การยึดบ้านเพื่อใช้หนี้มากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า 

นอกจากนั้น เรายังอาจจะเห็นเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และขนาดจิ๋วบางส่วน ที่ใช้บัญชีบุคคลในการกู้ยืมในช่วงที่ผ่านมา ประสบปัญหาปิดกิจการ หรือเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดอาจจะส่งผลต่อเนื่องถึงปัญหาครอบครัวและสังคมในอนาคต

ขณะที่ คำถามที่หลายคนมักจะถามบ่อยๆกันในช่วงหนี้ว่า การพักหนี้ต่อเนื่อง หรือ การให้กู้ใหม่เพิ่มเติมเพ่ื่อประคับประคองสถานการณ์ของลูกหนี้ในช่วงนี้ไว้ก่อน เป็น “ทางออก”ของปัญหาหนี้ของคนไทยหรือไม่

คำตอบคือ หากเป็นลูกหนี้ที่รายได้ลดลงชั่วคราวจากผลกระทบของโควิด-19 และมีความชัดเจนว่าจะยังสามารถกลับไปเริ่มทำงาน หรือเริ่มเปิดกิจการได้ใหม่ได้ การพักหนี้ หรือการกู้เพิ่มอาจจะเป็นทางออกที่พยุงสถานการณ์ไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า ในกรณีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่านั้น การพักหนี้ แต่ดอกเบี้ยยังเดินต่อไปเรื่อยๆ หรือ การกู้หนี้เพิ่มขึ้น อาจจะดีเฉพาะในวันนี้ แต่เพิ่มปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต

นอกจากนั้น อีกปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย ในประเด็น “หนี้สินของคนไทย” คือ การก่อหนี้ที่เกินตัว โดยครัวเรือนจำนวนหนึ่งมีสัดส่วนหนี้สินที่ต้องผ่อนส่งรายเดือน ต่อรายได้รายเดือน สูงกว่า 30-40% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมในการดำรงชีพมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ด้วยซ้ำ และเมื่อรายได้ลดลงจากเศรษฐกิจที่ซบเซาหนักขึ้นจากโควิด-19 ทำให้สถานทางการเงินยิ่งลำบากหนักมากขึ้น และมีโอกาสสูงที่จะผ่อนส่งต่อไปไม่ไหว

แล้วทางออกคืออะไรหากเราเริ่มที่จะผ่อนส่งหนี้ที่มีอยู่ไม่ไหวแล้ววันนี้ และ การเบี้ยวหนี้คงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดแน่ 

การเจรจากับเจ้าหนี้โดยตรง เพื่อชี้แจงสถานการณ์จริงของเราน่าจะดีที่สุด ทั้งการเจรจาเพื่อขอรวมมูลหนี้หนี้ ลดวงเงินผ่อนรายเดือน ขอลดดอกเบี้ยบางส่วน โดยระบุจำนวนสูงที่สุดที่เราพอจะผ่อนไหว เชื่อว่าน่าจะมีทางออกที่พอจะประนีประนอมกันได้ เพราะเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงินวันนี้ ก็คงเหลือหนทางไม่มากแล้วเช่นกัน หากเจรจากับลูกหนี้ เท่ากับสถายบันการเงินยังพอมีทางได้เงินคืนได้บ่้าง แต่หากสถาบันการเงินไหนยังคงเงื่อนไขที่สูงมากจนลูกหนี้ไม่มีทางออก ขอให้รู้ว่า โอกาสที่ “ลูกหนี้ที่ดีจะตัดสินใจเบี้ยวหนี้ก็มีได้เช่นกัน”

#ศรษฐกิจคิดง่ายๆ #หนี้ครัวเรือน#Thejournalistclub #วัคซีนโควิด #โควิด19 #หนี้เสีย