ส.อ.ท.วิ่งตีนพลิกดันเมดอินไทยแลนด์ขายให้หน่วยงานภาครัฐ

  • แย่งชิงเม็ดเงินจัดซื้อจัดจ้างปีงบประมาณ64
  • ตั้งเป้าให้ซื้อสินค้าฝีมือคนไทย1ล้านล้านบาท
  • เร่ขายสินค้าให้กระทรวง-หน่วยงาน

นายสุพันธุ์ มงคงสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าในปีนี้ ส.อ.ท.ตั้งเป้าหมายการขึ้นทะเบียนสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand : MiT) 100,000 รายการ ให้ทุกกระทรวงจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์) สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นที่ต้องการในการปฏิบัติงานของภาครัฐ ในสำนักงาน เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆ

“ในขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนสมาชิก MiT รวม3,500 รายการสินค้า หลังจากนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะผู้ประกอบการให้ความสนใจมาก และเตรียมระบบไอทีรองรับไว้หมดแล้ว คาดว่าจะขึ้นทะเบียนได้10,000 สินค้าต่อเดือน และจะถึงเป้าหมาย 1 00,000สินค้าภายในปีนี้ โดยสินค้ากลุ่มใหญ่จะเป็นวัสดุก่อสร้าง รองลงมาเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน และสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงที่ผลิตโดยคนไทย ในอนาคตจะมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ”

นอกจากนี้ ส.อ.ท.จะรวบรวมรายการสินค้าที่ภาครัฐต้องการมาประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้ทราบ เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และจะวางแนวทางการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศในรูปแบบธุรกิจกับธุรกิจ(B2B) และธุรกิจกับผู้บริโภค(B2C) ให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในปีนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.มีแผนหารือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อผลักดันให้ทุกกระทรวงกำหนดเป็นนโยบายในการออกข้อกำหนดขอบเขตการจัดซื้อจัดจ้างให้ชัดเจน และเร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานภายใต้สังกัดถึงแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศ ซึ่งในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ จะเข้าไปหารือกับกระทรวงคมนาคม ต่อด้วยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยราขการอื่น ๆ ต่อไป เพื่อกำหนดเป้าหมายสินค้าที่ภาครัฐต้องการอย่างชัดเจน และจัดหาเอกชนในสินค้าแต่ละกลุ่มมาตอบสนอบต่อความต้องการภาครัฐให้ได้มากที่สุด

ดังนั้น เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างสินค้า Made in Thailand ไปสู่รูปแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ซึ่งจะเป็นการขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า MiT Made in Thailand ส.อ.ท.กำหนดแผนการดำเนินงานไว้ 1.การผลักดันสมาชิก ส.อ.ท. ทั้งหมด 12,000 ให้สนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยจะมอบสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกในการรับบริการจาก ส.อ.ท. เพิ่มเติม เช่น การได้สิทธิในการอบรมสัมมนา ศึกษาดูงาน การลดหย่อนค่าบำรุงสมาชิก หรือบริการอื่นๆ 2.แผนผลักดันสิทธิพิเศษสำหรับผู้ประกอบการที่สนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศในด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการ โดยร่วมกับสถาบันการเงินให้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมพิเศษ ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือกับสถาบันการเงินบางแห่งไปแล้ว และ3.ในระยะยาว ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสิทธิพิเศษด้านภาษี ซึ่งจะหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ไม่เพียงแต่การสนับสนุนให้ภาครัฐซื้อสินค้า MiT ส.อ.ท. ยังได้หารือร่วมกับบริษัทที่เป็นผู้ซื้อขนาดใหญ่ให้ขยายสัดส่วนการซื้อสินค้า MiT เพิ่มขึ้น โดยได้กำหนดสัดส่วน 5-10% และจะขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังซื้อสินค้าไทยภายในประเทศให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น”

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ส.อ.ท.กล่าวว่าส.อ.ท.กำลังร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) นำเครือข่ายเอสเอ็ม100,000 ราย ให้มาขึ้นทะเบียน MiT ซึ่งมั่นใจว่าจะเพิ่มยอดสินค้าได้10,000 รายการต่อเดือน และยังได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำสมาชิกเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ซึ่งโครงการ MiT ได้กำหนดให้ต้องมีวัตถุดิบอุปกรร์ที่ผลิตภายในประเทศไม่ต่ำกว่า 40% จึงช่วยสร้างรายได้ลงไปให้กับผู้ประกอบการายย่อยได้อีกเป็นจำนวนมาก

”โครงการดังกล่าวจะเห็นผลชัดเจนในปีงบประมาณ 2564 ที่คาดว่างบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 1.77 ล้านบาท จะต้องมาซื้อสินค้าไทยไม่ต่ำกว่า 60% จะทำให้มีเม็ดเงินไหลไปสู่ผู้ประกอบการไทย 1 ล้านล้านบาท และจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไปสู่รายย่อยทั่วประเทศอีกเป็นจำนวนมาก”

#Thejournalistclub #โควิด19 #วัคซีนโควิด #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ