ส.อ.ท.ระส่ำเหตุสมาชิกหวาดผวาโควิด-19ระลอกที่3

  • ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม
  • เดือนเม.ย.ลดลงเหลือ84.3จากมี.ค.ที่ระดับ87.3
  • ดัชนีฯคาดการณ์3เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มลดลง


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 84.3 ลดลงจากเดือนมี.ค.อยู่ที่ระดับ 87.3 เป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ย.2563 เนื่องจากผู้ประกอบการ มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ทำให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เข้มงวดมากขึ้น

ท้ังนี้แม้ว่ารัฐบาล จะไม่ได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวส์เ หมือนกับการระบาดในระลอกแรก แต่วิกฤตโควิด-19 ระลอกนี้ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทั้งการค้าการลงทุน การเดินทางท่องเที่ยว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่มาตรการให้ทำงานจากที่บ้าน(Work From Home) ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับเดือนเม.ย.ท่ีผ่านมายังมีวันทำงานน้อยเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ภาคการผลิตส่วนใหญ่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

“ยอมรับว่าผลกระทบจากโควิด-19ระลอก3 มีความรุนแรงมากจริงๆ มีผู้ติดเชื้อเกินวันละ 1,000 คน และมีผู้เสียชีวิตสองหลักทุกวัน ทำให้ดัชนีฯ โดยรวมดิ่งหัวลงทั้งหมด ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจนในการควบคุมการระบาดของเชื้อ ซึ่งหากการฉีดวัคซีนล่าช้าไม่จบภายในไตรมาส 3 นี้ มองว่าเงินกู้ที่เหลือจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลที่ใช้สำหรับเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนไม่น่าเพียงพอกับสถานการณ์ จึงขอยืนยันแนวคิดเดิมที่เคยแสดงความเห็นไว้ว่ารัฐบาลต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้มาตรการเยียวยาครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มและผู้ประกอบการ มีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ”
สำหรับ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ขณะนี้เกิดปัญหาผู้เข้าโครงการขอรับสินเชื่อยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์อย่างทันท่วงทีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้หารือถึงแนวทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมนำข้อเสนอเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับแผนการกระจายวัคซีนและการประชาสัมพันธ์ ให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน

ขณะที่ดัชนีความเชื่อม่ัน คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.8 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 94.0 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่สาม ที่อาจยืดเยื้อและต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม อีกทั้งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้า ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งสถานการณ์การเมืองของประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย