ส.อ.ท.ชี้ไม่กระทบเป้าผลิต หลัง “จีเอ็ม” ประกาศยุติผลิตรถยนต์ในไทยปลายปี 63

  • เชื่อมีผลทางจิตวิทยา แต่ไม่กระทบเป้าการผลิตปีนี้ที่ 2 ล้านคัน
  • ส่งออก 1 ล้านคัน ขายในประเทศ 1 ล้านคัน
  • แนะภาครัฐรีบหันมาแก้ปัญหาบาทแข็งค่าด่วน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท  เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยสิ้นปีนี้ว่า นับเป็นเรื่องของแผนการบริหารกิจการของจีเอ็มว่าจะเลิกผลิตหรือเพิ่มการผลิตในจุดใดบ้าง เพราะทางจีเอ็มลงทุนในประเทศจีนด้วยเช่นกันยอดขายกว่า 3 ล้านคัน ประสบผลสำเร็จสำหรับการลงทุนในเอเชีย ซึ่งปีที่ผ่านมายอดขายลดลงประมาณร้อยละ 9 ยอดขายในประเทศไทยรถกระบะยอดขายปีที่ผ่านมาก็ลดลงเช่นกัน และ 2 ปีที่ผ่านมายกเลิกการผลิตรถยนต์นั่งในประเทศไทยไปแล้วเช่นกัน ด้านโรงงานผลิตรถยนต์ ทางจีเอ็มขายให้กับเกรท วอล มอเตอร์ส์  ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจีน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนอะไร เพราะจีเอ็มไม่มีบทบาทมากนักในไทย แต่ด้านจิตวิทยานั้น มีผล เพราะจีเอ็มเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปีมาแล้วเติบโตในสหรัฐอเมริกา และยอมรับว่าการประกาศยุติการผลิตของจีเอ็ม มีผลกระทบต่อแรงงานและผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ป้อนให้กับจีเอ็มบ้าง 

“เรื่องนี้ถือเป็นข้อเตือนใจต่อภาครัฐว่าควรสร้างบรรยากาศในประเทศให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านยอดขายในประเทศและการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงด้านการส่งออก ประเทศไทยมีปัญหาเงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ซึ่งการส่งออกมี 2 รูปแบบ คือ การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนรถยนต์ การที่เงินบาทแข็งกระทบต้นทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นจะถอนตัวออกจากประเทศไทยตามจีเอ็มหรือไม่นั้น จะต้องติดตามต่อไปว่า การประกอบธุรกิจอยู่ในไทยแข่งขันได้หรือไม่ โดยต้องคำนึงระยะยาว ส่วนจุดแข็งของไทยคือการมีซัฟพลายเชนที่แข็งแกร่ง” นายสุรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มาสด้าทนเรื่องเงินบาทแข็งค่าไม่ไหว จึงย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นที่ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้นไปผลิตในประเทศญี่ปุ่น ด้านแรงงาน การประกาศยุติการผลิตของจีเอ็ม มีผลกระทบต่อแรงงานและผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ป้อนให้กับจีเอ็มบ้าง จึงขอเตือนภาครัฐให้ส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงควบคู่กับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าจนไม่เหลียวมองรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หากเงินบาทยังคงแข็งค่าผู้ประกอบการรถยนต์อาจทนไม่ไหวเช่นกัน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จีเอ็มมียอดขายในประเทศต่ำกว่าร้อยละ  2 ของภาพรวมยอดขายรถยนต์ในไทยที่มียอดปีละประมาณ  1 ล้านคัน การไม่มีรถยนต์เชฟโรเลตให้กับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบ ก็มีรถยนต์อื่นที่ทดแทนได้ ดังนั้น ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ยังคงยืนเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ปี 2563 ไว้ที่ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออก 1 ล้านคัน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เป็นเรื่องของการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่แข่งขันในตลาดไม่ได้ส่วนแบ่งตลาดลดลงก็ถอยออกไปจากธุรกิจ รายใดแข่งขันได้ธุรกิจก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น BMW ธนบุรีประกอบยนต์ และมาสด้า เป็นต้น  ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 

สำหรับตลาดรถยนต์ในภาพรวมของประเทศไทยปีนี้ไม่สดใส แต่พอไปได้ไม่เลวร้าย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ยังคงตั้งเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ของทุกค่ายรถยนต์รวมกันไว้ที่ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศและผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 1 ล้านคันเท่ากัน ขณะที่ตลาดส่งออกสงครามการค้าขณะนี้เริ่มคลี่คลายลงไปบ้าง แต่ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่จะต้องติดตามต่อไปว่าจะกระทบนานเพียงใด

“การตัดสินใจยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยของจีเอ็ม ถือเป็นการตัดสินใจของฝ่ายบริหารของจีเอ็มเอง เพราะการแข่งขันระดับโลกจะมีการพิจารณาว่าลงทุนต่อในประเทศไหนหรือไม่ และขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ออกมาสู่ตลาดด้วยว่าเทคโนโลยีของผู้ผลิตรายได้จะครองตลาดได้ จึงมีทั้งฝ่ายที่ได้และฝ่ายที่เสียในการแข่งขัน แต่ถ้าหากตลาดแย่ลงอย่างรุนแรงก็เสียหายกันหมด แต่ตลาดรถยนต์ของประเทศไทยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.มองว่าความต้องการรถภาพรวมปีนี้จะเท่ากับปีที่ผ่านมา จึงตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์ไว้ที่ 2 ล้านคัน ตลาดจึงต้องมีผู้ได้และเสียในตลาดนี้” นายสุพันธุ์ กล่าว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การประกาศยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยนั้น ไม่กระทบภาพลักษณ์ต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยด้วยเหตุผลว่าประเทศไทยไม่ดีจึงถอนตัวออกไป เพราะขณะนี้หลายค่ายเข้ามาทำธุรกิจรถยนต์ในประเทศไทยสามารถเติบโตได้ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า