ส่องจีดีพีไทย:ที่ว่าปีนี้ลงลึกสุดใจ มันอย่างไรกันหนอ

ผ่านครึ่งปีพอดี กับเศรษฐกิจไทยในปีต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด -19 อัพเดทครึ่งปีหลัง เรามาส่องจีดีพีไทยเพื่อถอดรหัสกันว่า ตัวเลขที่ประมาณการณ์กันติดลบเท่านั้น เท่านี้ หมายความว่าอย่างไร 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลายสำนักได้ปรับลดลงอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ของประเทศไทยปี 2563 ลงมาต่อเนื่อง บางสำนักปรับลงแล้ว 2 ครั้ง บางสำนักลดลงมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน

แล้วหน่วยงานใด มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร และใครให้ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีไทยไว้เท่าไร 

เริ่มจากต่างประเทศก่อน ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)  ปรับลดจีดีพีประเทศไทยลง ติดลบ 7.7% ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี มองว่าจีดีพีของไทยจะติดลบที่ 6.5%

มาถึงในประเทศกันบ้าง คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ให้ตัวเลขจีดีพีที่ติดลบประมาณ 5-6% เหตุเพราะจีดีพีในไตรมาส 1 ที่อออกมาอย่างเป็นทางการติดลบอยู่ที่ 1.8% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้ แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการปรับลดลงได้อีก หลังประกาศจีดีพี ไตรมาสที่ 2

ขณะที่มาแรงที่สุด ในขณะนี้ น่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยในการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่า จีดีพีของไทยในปีนี้จะหดตัวถึง 8.1% ซึ่งเป็นการหดตัวที่มากที่สุดตั้งแต่มีการรวบรวมสถิติของเศรษฐกิจไทย และต่ำกว่าช่วงที่เศรษฐกิจไทยเคยตกต่ำที่สุดในปี 2540-2541 จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเคยหดตัวมากที่สุด 7.6%

ส่งผลให้ภาคเอกชน เช่น กองทุนบัวหลวงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงมาที่ 8%  ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ คาดว่าจีดีพีไทยจะปรับลดลง 7.3%

แล้วตัวเลข “ติดลบ” หนักๆ ที่หลายสำนักประมาณการมานี้ ถ้าทอนออกมาเป็น “ความเสียหาย” จะเป็นอย่างไร 

ลองคิดกันง่ายๆ โดยทนอจำนวนเปอร์เซนต์ของการติดลบเหล่านี้ ออกมาเป็นตัวเงินกัน โดยหากคิดจากมูลค่าของจีดีพีไทยล่าสุด ในปี 62 อยู่ที่ประมาณ 16.3 ล้านล้านบาท และเศรษฐกิจปรับตัวลดลงจากปีก่อน 8.1% เทียบบัญญัติไตรยางค์ จะเท่ากับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไป คิดเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้น 1.32 ล้านล้านบาท

ซึ่งจะทำให้มูลค่าของจีีดีพีไทย ปรับลดลงจาก 16.3 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา เหลือ 14.98 ล้านล้านบาทในปีนี้ 

และหากคิดเฉลี่ยง่ายๆ โดยเอาวัยแรงงานของไทยที่ทำงานอยู่ในทุกระดับชั้นประมาณ 33 ล้านคน หารมูลค่างินที่หายไปทั้งหมด จะเท่ากับเงินในกระเป๋าของแรงงานไทยที่หายไปเฉลี่ยคนละ 40,000 บาท 

ซึ่งในข้อเท็จจริง มีแรงงานจำนวนมากที่รายได้ลดลงมากกว่า 40,000 บาท  เพราะการคิดแบบนี้ เป็นการคิดแบบถัวเฉลี่ยต่อหัวของแรงงานทั้งหมด ในขณะที่วันนี้ ยังมีแรงงานที่โชคดีส่วนหนึ่งยังไม่ตกงาน หรือถูกลดรายได้ ซึ่งคนส่วนนี้อาจจะได้รับผลกระทบน้อย หรือไม่ได้รับผลกระทบ

แล้วเงินที่หายไป หายไปจากส่วนไหนบ้าง !!!

ตามตัวเลขของธปท.ภาคที่ถูกกระทบคิดเป็นเม็ดเงินมากที่สุด คือ ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อทั้งสองภาคที่เป็นภาคทำเงินให้กับศรษฐกิจไทยนี้ถูกกระทบจะมีผลต่อเนื่องไปยังภาคการค้าขาย และการผลิต เพราะเมื่อคนขาดรายได้หลัก จะประหยัดกินประหยัดใช้ คนขายก็ขายของได้น้อยลง ส่งผลให้สั่งของลดลง คนผลิตก็จะลดการผลิตลงตามด้วย

โดยล่าสุด ธปท.ประเมินว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยว ที่เคยเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย 39.8 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา ธปท.คาดว่าปีนี้ทั้งปีนักท่องเที่ยวจะเหลือเพียง 8 ล้านคน หรือลดลง 31.8 ล้านคน ถ้าคิดกลมๆ ง่ายว่า แต่ละคนใช้เงินท่องเที่ยวเฉลี่ยๆ 30,000 บาทต่อคน เงินที่หายไปจากการทจะอยู่ที่ประมาณ 957,000 ล้านบาท 

ส่วนการส่งออกนัั้น ในปี 2562 มีมูลค่าสินค้าและบริการที่ประเทศไทยส่งออกไปต่างประเทศ และได้เงินกลับมาทั้งสิ้นประมาณ 242,981 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7.29  ล้านล้านบาท 

และหากคิดตามประมาณการล่าสุด ซึ่ง ธปท.ประเมินว่า การส่งออกปีนี้จะหดตัวจากปีที่แล้วประมาณ 10.3% คิดออกมาเป็นตัวเลขกลมๆ หมายความว่า รายได้จากการส่งออกหายไปในปีนี้ประมาณ 750,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายเหล่านี้ถูกลดทอนด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ออกมาในวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของเงินเยียวยา 5,000 บาท และเงินเยียวยาในส่วนของเกษตรกร และกลุ่มเปราะบางต่างๆ ไปได้บางส่วน

ในขณะที่เงินในส่วนของการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน 50,000 ล้านบาท ยังถูกปล่อยออกมาได้ไม่มากอย่างที่คาดคิดไว้ ขณะที่เกณฑ์ที่เข้มงวดของกองทุน BSF ทำให้เอกชนที่เข้ามาใช้ช่องทางนี้ในการต่ออายุพันธบัตรมีไม่มาก

และความเหนื่อยของเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ได้มีแค่ปีนี้ปีเดียว ถ้าใครอ่านแล้ว จะเตรียมรับมือก็อยากจะ “ขอไว้สอง” หรือขอสำรองไว้ 2 ปีเป็นอย่างน้อย 

อย่าไปหลงกับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปีหน้าที่ดีขึ้น ทั้งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ และธปท.ที่มองตรงกันว่า ในปี 64 จีดีพีของไทยจะขยายตัวขึ้นได้ประมาณ 5%

เพราะการขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% นั้น ไม่ได้มาจากฐานเดิมของเศรษฐกิจไทยที่มีจีดีพี 16.3 ล้านล้านบาท แต่เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนจากจีดีพีใหม่ที่ถูกปรับลดลงแล้วจากความเสียหายในปีนี้ไปแล้ว ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 14.98 ล้านล้านบาท เมื่อโตกลับขึ้นมา 5% เท่าคิดเป็นมูลค่า หรือเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 750,000 ล้านบาท

ดังนั้น ถ้าหากจะให้จีดีพีกลับมาเท่าเดิมในปี 62 ก่อนวิกฤตโควิด -19 จีดีพีปีหน้าต้องโตใกล้ๆ 10% เป็นอย่างน้อย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมืดย่อมมีสว่าง ทางรอดของเราก็ยังมีถ้าแล้วเตรียมพร้อม โดยเฉพาะกรณีที่วัคซีนโควิด-19 ประสบความสำเร็จได้เร็ว ประเทศไทยสามารถเปิดน่านฟ้ารับนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คาด จีดีพีประเทศไทยปีหน้าอาจจะโตได้มากกว่า 10% ก็ได้ ใครจะรู้!!!