ส่งออกม.ค.66 ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

  • มูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญฯลด 4.5% เทียบม.ค.65
  • สต๊อกสินค้าล้น-เศรษฐกิจโลกชะลอ-เงินเฟ้อพุ่งฉุดกำลังซื้อ
  • นำเข้าพุ่งสวนทางทำขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 10 ปี

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนม.ค.66 ไทยส่งออกได้มูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 4.5% เทียบเดือนม.ค.65 คิดเป็นเงินบาท 700,127 ล้านบาท ลดลง 0.9% การนำเข้า 24,899.1 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 5.5% คิดเป็นเงินบาท 871,430 ล้านบาท เพิ่ม 9.4% ขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านเหรียญฯ หรือขาดดุล 171,303.3 ล้านบาท โดยการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตร 2.2% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 3.3% และสินค้าอุตสาหกรรม 5.7% และยังได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อของคู่ค้าหลายประเทศยังอยู่ในระดับสูง ฉุดกำลังซื้อ และการผลิตโลกหดตัว ทำให้นำเข้าลดลง

 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้หารือกับเอกชนหลายกลุ่มสินค้า ประเมินเหมือนกันว่า การส่งออกช่วงครึ่งแรกปี 66 จะชะลอตัว และลดลง แต่ครึ่งปีหลัง จะขยายตัวดีขึ้น และยังมั่นใจว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1-2% จะยังคงใช้เป็นเป้าทำงานที่จะทำให้บรรลุผล โดยจะเพิ่มกิจกรรมบุกเจาะตลาดที่มีโอกาสมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ซีแอลเอ็มวี จีน 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่วาว่า การนำเข้าในเดือนม.ค.66 ที่เพิ่มขึ้น 5.5% เป็นเพราะราคานำเข้าน้ำมันที่สูงถึง 5,262 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 84% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของมูลค่าการนำเข้ารวมเดือนม.ค.66 โดยมีราคาเฉลี่ยที่ 80.48 เหรียญฯ/บาร์เรล จากเดือนธ.ค.65 ที่เฉลี่ย 77 เหรียญฯ/บาร์เรล และราคานำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ เพิ่มขึ้น ซึ่งมีสัดส่วน 60% ของมูลค่านำเข้าเดือนม.ค.66 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป 

 “ถ้าจะทำให้การส่งออกปี 66 โตได้ 1-2% ตามเป้าหมาย ในช่วง 11 เดือนที่เหลือของปีนี้ ต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 24,517-24,778 ล้านเหรียญฯ แต่หากจะรักษาการส่งออกให้ได้เท่ากับปี 65 ที่ทำได้ 287,068 ล้านเหรียญฯ จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยที่เดือนละ 24,256 ล้านเหรียญฯ” 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือนม.ค.66 ที่ลดลง ไม่น่าแปลกใจ เป็นผลต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวตั้งแต่เดือนก.ย.65 ประกอบกับ คู่ค้าได้เร่งนำเข้ามาตั้งแต่กลางปี 65 เพื่อหนีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้มีสต๊อกสินค้าอยู่จำนวนมาก ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัย น่าจะยังส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่กว่า 32 บาท/เหรียญฯ จากปลายปีที่ 35-36 บาท/เหรียญฯ ทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้าเสนอราคา ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยครึ่งแรกปี 66 ติดลบ โดยคาดไตรมาส 1 ติดลบ 10% ถึงลบ 5% ไตรมาส 2 ติดลบ 5% 

 “ในช่วงครึ่งปีแรก ยังมีปัจจัยที่ไม่รู้อีกมาก เช่น ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อย่างสหรัฐฯ จีน ยุโรป  ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะเป็นอย่างไร แต่คาดว่า ครึ่งปีหลังสถานการณ์ส่งออกไทยจะดีขึ้น เพราะคาดว่า คู่ค้าจะกลับมาสั่งซื้อสินค้าเพิ่มหลังจากสินค้าคงคลัง ที่เร่งนำเข้าตั้งแต่กลางปี 65 เริ่มหมด”

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลค่าส่งออกในเดือนม.ค.66 ที่ 20,249.5 ล้านเหรียญฯ ถือว่า ต่ำสุดในรอบ 23 เดือนนับจากเดือนก.พ.64 ที่ 20,204.5 ล้านเหรียญฯ และมีอัตราติดลบที่ 4.5% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนต.ค.65 ที่ลบ 4.4% เดือนพ.ย.65 ลบ 6% และเดือนธ.ค.65 ลบ 14.6% ส่วนการขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านเหรียญฯ สูงสุดในรอบ 10 ปี