ส่งออกมิ.ย.65 มูลค่าเฉียด 1 ล้านล้านบาท

.ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน

.ช่วง 6 เดือนโกยรายได้เกือบ 5 ล้านล้านบาท

.เมินขาดดุลการค้าเหตุนำเข้าสินค้าผลิตเพื่อส่งออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือนมิ.ย.65 การส่งออกมีมูลค่า 26,553.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่ม 11.9% เทียบเดือนมิ.ย.64 ขยายตัวเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน แต่ถ้าหักมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ ที่มีความผันผวนด้านราคา และอาวุธออก จะเหลือมูลค่า 22,192.56 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 10.4% และเมื่อคิดเป็นเงินบาท 907,286.2 ล้านบาท เพิ่ม 22.7% ส่วนการนำเข้า 28,082.3 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 24.5% คิดเป็นเงินบาท 971,480.6 ล้านบาท เพิ่ม 36.3% ขาดดุลการค้า 1,529.3 ล้านเหรียญฯ หรือขาดดุล 64,194.4 ล้านบาท

ส่วนช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 65 การส่งออก 149,184.8 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 12.7% เทียบช่วงเดียวกันปี 64 ถ้าหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธออกจะเหลือมูลค่า 127,145 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 9% และเมื่อคิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 4.945 ล้านล้านบาท เพิ่ม 23.1% ส่วนการนำเข้า 155,440.7 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 21.0% คิดเป็นเงินบาท 5.223 ล้านล้านบาท เพิ่ม 32.0% ขาดดุลการค้า 6,255.9 ล้านเหรียญฯ หรือขาดดุล 278,028.4 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกเดือนมิ.ย.65 เพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน มูลค่า 2,766 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 21.7% , สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 มูลค่า 2,199.7 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 28.3% และสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวเป็นเดือนที่ 16 มูลค่า 20,278.4 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 6.7% ขณะที่ตลาดที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ เอเชียใต้ เพิ่ม 49.5%, อาเซียน เพิ่ม 35.6%, แคนาดา เพิ่ม 26.2%, ตะวันออกกลาง เพิ่ม 24.0%, CLMV เพิ่ม 19.5%, ลาตินอเมริกา เพิ่ม 17.2%, เกาหลีใต้ เพิ่ม 15.7%, แอฟริกา เพิ่ม 12.1%, สหรัฐฯ เพิ่ม 12.1% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 11.0%

“สาเหตุที่การส่งออกขยายตัวได้ดี เป็นเพราะการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหาและอุปสรรคส่งออก, การจัดกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง, การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และมินิ เอฟทีเอ, การเจรจาธุรกิจกับซาอุดิอาระเบียเมื่อเร็วๆ นี้ ที่สร้างยอดขายได้สูงถึง 11,500 ล้านบาท, ความต้องการซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายการส่งออกทั้งปีนี้ ที่ตั้งเป้าไว้ขยายตัว 4% จากปี 64 เกินเป้าหมายแล้ว เพราะแค่ 6 เดือน ขยายตัว 12.7% มากกว่าเป้า 3 เท่า”

สำหรับกรณีที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลายประเทศ มีแนวโน้มชะลอลงนั้น ช่วงที่ผ่านมา ได้เดินหน้าหาตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดส่งออกในตลาดใหม่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งในลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะเดินหน้าแผนผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเจาะตลาดเมืองรอง มีแผนเจาะตลาด 38 เมืองใน 25 ประเทศ รวมถึงการทำมินิ เอฟทีเอด้วย, การผลักดันการส่งออกในตลาดใหม่ ซึ่งได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เตรียมทำแผนไว้แล้ว โดยจะประชุมกับทูตพาณิชย์เดือนส.ค.นี้

ด้านนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ตัวเลขการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก ยังไม่น่าห่วง เพราะส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ โดยเดือนมิ.ย.65 มูลค่านำเข้าสูงถึง 4,700 ล้านเหรียญฯ ที่เหลือเป็นเครื่องจักร วัตถุดิบ สินค้าทุน นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในอนาคต