“สุวิทย์”เปิดใจภารกิจผมเสร็จสิ้นลงแล้วครับ…

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ได้โพสต์เฟชบุ๊กหลังยื่นลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยระบุว่า “ภารกิจของผมเสร็จสิ้นลงแล้วครับ”….โดยมีเนื้อหาระบุว่า

ภารกิจของผมเสร็จสิ้นลงแล้วครับ

ผมขอกราบขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ไว้วางใจให้โอกาสผมปฎิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลของท่าน ตั้งแต่การเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (19 ส.ค.58 – 15 ธ.ค.59) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (15 ธันวาคม 59 – 23 พ.ย. 60) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (23 พ.ย.60 – 29 ม.ค. 62) และรัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (10 ก.ค. 62- 16 ก.ค.63) บัดนี้ผมได้ปฏิบัติภารกิจของผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายเสร็จสิ้นลงแล้ว ผมได้หารือเพื่อนร่วมงานของผมทั้ง 3 ท่านแล้ว เห็นพ้องกันว่าขณะนี้ถึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะถอยออกมาเพื่อเปิดโอกาสให้ท่านนายกรัฐมนตรีมีโอกาสเลือกคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามดุลพินิจของท่านโดยปราศจากความกังวลใจครับ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกระทรวงใหม่ที่เกิดจากการควบรวมหน่วยงานของรัฐ 3 กลุ่มงานเข้าด้วยกัน คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) กลุ่มการศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ) และกลุ่มวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี) เป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” (กระทรวง อว.) โดยผมได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีให้มาขึ้นรูปนโยบายและการบริหารจัดการกระทรวงน้องใหม่นี้ ให้เป็นกระทรวงแห่งโอกาส กระทรวงแห่งปัญญา กระทรวงแห่งอนาคต เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตอันใกล้ ภารกิจในส่วนนี้นั้นผมได้ร่วมกับผู้บริหารอว. วางโครงสร้างกระทรวง และออกประกาศฯที่สำคัญในการบริหารราชการต่างๆของกระทรวงเป็นที่เสร็จสิ้นแล้วครับ

มหาวิทยาลัย เปรียบเสมือนหัวรถจักรในการการขับเคลื่อนประเทศด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างคนตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 และการพัฒนาคนทุกช่วงวัย จึงจำเป็นจะต้องมีการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย” เพื่อตอบโจทย์ประเทศอย่างจริงจัง (Radical Transformation) ผมจึงให้นโยบายการปรับทิศทางการทำงานของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการพัฒนาตามความถนัด สร้างความเป็นเลิศ สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของประเทศ ในขณะเดียวกันภายในมหาวิทยาลัยเองก็ยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการที่หมักหมมมานาน และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาที่ต้องแก้ไข ผมได้เร่งปฏิรูประบบบริหารมหาวิทยาลัยในหลายด้าน อาทิ ระบบบริหารบุคลากรที่เน้นสมรรถนะและจริยธรรม ระบบงบประมาณ การผ่อนคลายข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของคณาจารย์ และบุคลากรหลายด้าน เช่น มคอ. ตำแหน่งวิชาการ หรือระบบธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการเร่งพัฒนาระบบการเรียน การสอนรองรับสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ หลักสูตร Non-Degree ต่างๆ เป็นต้น

การที่ประเทศจะก้าวไปข้างหน้าให้ได้นั้น การวิจัยและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญผมได้ให้นโยบายการปรับกระบวนทัศน์งานวิจัยของประเทศเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นให้งานวิจัยที่ออกมาไม่ขึ้นหิ้ง แต่สามารถนำไปปฎิบัติและใช้ประโยชน์ได้จริงเชิงพาณิชย์ ผ่านความร่วมมือในลักษณะ Consortium ทั้งจากสถาบันวิจัย หรือมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐและประชาสัมคม ซึ่งงานในส่วนนี้กำลังดำเนินไปได้ด้วยดีครับ

กระทรวงอว.ได้มุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาในทุกมิติ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เน้นการขับเคลื่อนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับประเทศและระดับโลก โดยยึดการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยนโยบายสำคัญที่เป็น New Growth Engine ขับเคลื่อนศักยภาพพื้นฐานของประเทศที่มีอยู่ให้ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG Economy Model ซึ่งเมื่อวานนี้ได้มีการลงนาม MOU ระหว่าง 18 หน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นสมัชชา BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมสู่ประชาคมโลก ทั้งด้านอาหาร เกษตร การแพทย์ สุขภาพ พลังงาน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก่อนสถานการณ์โควิด – 19 BCG Economy model มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 3.4 ล้านล้านบาท การลงทุนของภาคเอกชนในระยะแรกกว่า 10,000 ล้านบาทก่อให้เกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีนโยบายและการบริหารจัดการที่เหมาะสมคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเป็น 4.4 ล้านบาทในอนาคตครับ

ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้วางรากฐานและดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ภายใต้แนวคิด “อว. สร้างคน สร้างงาน และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ” ผ่าน “โครงการ อว. สร้างงาน” ซึ่งระยะที่หนึ่ง ได้จ้างงานแล้ว 10,000 อัตรา ระยะที่สองจ้างงานเพิ่มอีก 32,000 อัตรา ในการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของ อว. ทั้งหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเตรียมเพิ่มการจ้างงานบัณฑิต นักศึกษา และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 3 แสนคน เข้าร่วม “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” หรือ “โครงการ 1 ตำบล 1มหาวิทยาลัย” มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน (Targeted Poverty Alleviation) โดยมีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ในระดับตำบลแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม เพื่อนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมโดยเฉพาะด้าน Area base BCG economy ลงไปพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น Smart Farmer การพัฒนาพืชสมุนไพร การพัฒนาสินค้าและบริการ การพัฒนาการตลาดและสิ่งอํานวยความสะดวก การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน การส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ BCG ลงสู่พื้นที่ให้เกิดการปฏิบัติจริง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยจากเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจหลักใน 1 ปีกับอีก 6 วัน ที่ผมได้ร่วมกับพี่น้องประชาคมอว. ในการขับเคลื่อนให้ประเทศเดินไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ผมขอขอบคุณผู้บริหารอว.ทุกท่าน ชาวประชาคมอว. ผู้บริหารหน่วยงานรัฐและเอกชนและทีมงานของผมทุกคน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกับผมในการขับเคลื่อนงานเหล่านี้ออกมาเป็นรูปธรรมดังที่ปรากฎ ผมหวังว่าในอนาคต กระทรวงอว.ของเราจะเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างโอกาส เป็นพลังและปัญญาในการสร้างอนาคตให้ประเทศไทยครับ

สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณทุกกำลังใจ จากพ่อแม่พี่น้อง ภาคเอกชนนักธุรกิจและแฟนเพจที่ได้ติดตามผลงาน ให้ข้อเสนอแนะ ให้กำลังใจกับผมมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าภารกิจการเป็นรมต.อว.ของผมจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่ภารกิจของการเป็นคนไทยที่สำนึกในคุณของแผ่นดินยังไม่จบครับ ผมยังมีภารกิจร่วมกับคนไทยทุกคนในการนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความรู้รักสามัคคี ซึ่งจะเป็นในบทบาทใดก็ตามผมเชื่อว่าพวกเรายังคงให้กำลังใจกันและกันตลอดไปนะครับ

ขอบคุณครับ

สุวิทย์ เมษินทรีย์

16 กรกฎาคม 2563