“สุริยะ” ดันเอสเอ็มอีขยายตลาดต่างประเทศ นำร่องดึงนักลงทุนญี่ปุ่น 300 ราย

  • จับคู่ธุรกิจ ขยายตลาด – ร่วมลงทุน
  • พัฒนาเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 หมื่นราย
  • กรุยทางเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ไปหามาตรการสร้างโอกาสทางการตลาดต่างประเทศให้กับเอสเอ็มอี โดยในอันดับแรกจะใช้โอกาสในช่วงการจัดงานครบรอบ 10 ปี ความร่วมมือระหว่าง กสอ.กับประเทศญี่ปุ่นภายใต้ความร่วมมือ “Japan Desk” ในวันที่ 28 ส.ค.นี้  ที่ประเทศไทย โดยจะจัดให้มีการทำจับคู่การลงทุน( Business Matching)  ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น ซึ่งมีนักลงทุนญี่ปุ่นมาร่วมงาน 300 รายจาก 22 จังหวัด ทั่วประเทศญี่ปุ่น ที่กสอ.ลงนามความร่วมมือไว้ก่อนหน้านี้
  “นักลงทุนที่มาร่วมงานครั้งนี้ 300 ราย ในจำนวนนี้จะมีประมาณ 30 ราย เข้าร่วมการ Business Matching กับผู้ประกอบการไทย 100 ราย หรือผู้ประกอบการญี่ปุ่น 1 ราย จับคู่กับผู้ประกอลการไทย 3 ราย เพื่อขยายช่องทางการค้า และการลงทุนร่วมกัน”

นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็ จะมีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ให้กับผู้ประกอบการไทยภายในงานอีกด้วย และการจัดกิจกรรม โรดโชว์ โดยการเชิญชวนนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น นับเป็นแนวทางในการขยายการลงทุนและโอกาสทางการตลาด รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศไม่ให้ย้ายฐานการผลิต และขยายการลงทุนในไทยต่อไป

นอกจากนี้ ตนยังได้มอบให้กสอ. เร่งดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเกษตร (Agricultural Driven Economy) ที่เน้นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเกษตรกรรมหลักๆ ในแต่ละพื้นที่  เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0 รวม50,000 ราย และเร่งพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ ๆในเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและมาตรการทางการเงินต่าง ๆ และการยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยการนำวัตถุดิบที่ใช้แล้วกลับมาแปรรูปสร้างคุณค่าใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน  และการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data System) เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ การเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานภายในและภายนอกเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน

สำหรับ มาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้ง กระทรวงอุตสาหกรรม จะใช้กลไกประชารัฐ ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ในการสร้างอุปกรณ์และภาชนะในการกักเก็บน้ำในระดับครัวเรือนและระดับชุมชนในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมาย 1 0,000 ครัวเรือนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และการปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ขอสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม จาก 4% เหลือ 1% เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งการพักชำระหนี้และการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง