“สุริยะ”กำชับทุกหน่วยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขPM2.5

  • ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
  • พื้นที่ กรุงเทพ.และปริมณฑลในระยะเร่งด่วน
  • สั่งตรวจสอบ-บังคับใช้กฎหมายในโรงงาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯ.และปริมณฑล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าว กระทรวงฯจึง ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว

ทั้งนี้มาตรการเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรมคือการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ตรวจสอบ เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หรือแหล่งกำเนิดความร้อน และอุปกรณ์การเผาไหม้ในพื้นที่ กรุงเทพฯ. และปริมณฑล พร้อมกับขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบ ควบคุมระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับแผนการผลิตและขอความร่วมมือให้มีการติดตั้งระบบตรวจสอบ การระบายมลพิษอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลมายัง กรอ. และยังได้กำชับในเรื่อง การปรับแต่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากหม้อน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้และลดปัญหามลพิษทางอากาศ

สำหรับในระยะยาว กระทรวงฯจะดำเนินการขยายผลการติดตั้งระบบตรวจสอบแบบ CEMS โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลให้ครอบคลุมพื้นที่และประเภทการประกอบกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจำพวก 3 เตาเผาที่มีการใช้เชื้อเพลิง ชีวมวล และหม้อน้ำตามขนาดที่กำหนด รวมถึงการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานให้เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR)

ขณะที่ มาตรการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้จัดทำมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ให้ผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.)ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ประกาศใช้แล้ว 37 มอก. จากทั้งหมด 63 มอก. โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายภายในปีนี้ พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อรองรับการทดสอบรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในส่วนราชการ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า ภายในประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีมาตรการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการกำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ : อ้อยสด ในสัดส่วน 20%:80% ในฤดูการผลิตปี 2563/64 โดยมีมาตรการกำหนดราคาอ้อยสดกับราคาอ้อยไฟไหม้ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้หันกลับมาตัดอ้อยสด จัดซื้อรถสางใบอ้อย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยรายเล็กได้ยืมไปใช้ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร โดยโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปีงบประมาณ 2562-2564 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวน 6,000 ล้านบาท เป็นต้น