“สุพัฒนพงษ์”ชี้ข้อเรียกร้องของม็อบเล็กๆ ทำให้ประเทศไทยสะดุด

  • ยอมไม่ได้กำลังเดินทางมาถึงจุดที่จะได้เปรียบคนอื่น
  • จะไม่หมกมุ่นกับคำถาม
  • ชี้ปัญหาเป็นเรื่องเล็กยกเว้นเรื่องสถาบัน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ได้กล่าวปาฐกถา “การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” ในการประชุมสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีน และสมาคมธุรกิจต่างๆ โดยขอให้ภาคธุรกิจร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลอนุมัติไป เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมา จากนั้นได้เปิดให้นักธุรกิจที่เข้าประชุมได้ซักถาม และมีคำถามถึงสถานการณ์การชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งผู้ถามระบุว่าเป็นม็อบเล็กๆ ไม่เกิน 5%ของคนทั้งประเทศ ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวตอบว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขอพูดในนามส่วนตัวไม่ใช่ในนามรองนายกรัฐมนตรีหรือรมว.พลังงาน เป็นเรื่องต้องระมัดระวัง เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ การกระทำ รัฐมีความชัดเจนหากทำในกรอบกฎหมายไม่เป็นไรแสดงออกได้ แต่กระทำนอกกฎหมายก็ต้องมีการดำเนินการ หลักการตรงนี้ต้องมีอยู่ในเรื่องนี้รัฐบาลก็ต้องดูแล

“พวกเราได้แต่เสียดายว่าวันนี้ประเทศไทยเราค่อยๆ ออกจากการเข้าไปนอนป่วยทั้งโลก เราเป็นประเทศที่น่าจะเป็นรองจากจีนที่โดดเด่น เป็นคนออกมานั่งพักรอได้ระดับหนึ่ง กำลังจะค่อยๆ เดิน ก็เกิดเรื่องม็อบเล็กๆ รัฐบาลยิ่งต้องอดทน เรื่องการเมืองก็ใช้การเมืองแก้ ถ้าเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งและจังหวะเวลานี้ ถ้าทุกคนฟังเหตุฟังผลกัน จังหวะเวลานี้กำลังจะฟื้น กำลังจะได้เปรียบคนอื่น ที่เด็กๆ หรือน้องๆ ขอมาอยู่ในกระบวนการทางการเมือง ก็ไปแก้ทางการเมืองมีเวลากำหนดการณ์ถ้าจะให้เร็วขึ้นก็ไปพูดคุยกันในกระบวนการทางนิติบัญญัติ ซึ่งมีช่องทางให้แก้ไขได้ สำคัญก็คือพวกเราต้องสะดุดตรงนี้นิดหนึ่ง ยิ่งต้องอดทน ยิ่งต้องไปเที่ยว ยิ่งต้องใช้เงิน ประคับประคองเศรษฐกิจต่อไป เพราะว่า เด็กน้องๆ ไม่ถึง 5% แต่อีก 95% เราก็ต้องทำหน้าที่ ส่วนน้องๆ ถ้าทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินคดี อย่างบางกรณีในต่างจังหวัดไปทำผิดกฏหมายชัดเจนแบบนั้นรับกันไม่ได้ รัฐบาลต้องจัดการเด็ดขาด”


สำหรับการชุมนุมหากเกิน 5 คนก็ผิดกฎหมายอยู่แล้วและมีการกระทำที่ผิดกฎหมายไปมากกว่านั้นก็ต้องดูแล แต่เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง พวกเราต้องทำหน้าที่ ถามว่าสะดุดไหม ผมไม่คิดว่าสะดุดยาว ถามเราต้องทำอะไร ก็ทำหน้าที่ประคับประคอง บริโภคกันมากขึ้น ร่วมมือกับมาตรการของรัฐบาล 3-4 มาตรการ อย่าลืมไปบอกลูกน้องให้สมัครโครงการคนละครึ่ง ได้รับเงิน 3,000 บาทจากรัฐบาลช่วยประหยัด ลดค่าใช้จ่ายได้ ส่วนนักธุรกิจรีบไปช้อปปิ้งซื้อของให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนเรื่องม็อบเล็กๆ พอเขาเห็นทิศทางเศรษฐกิจไปได้ และพวกเรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องของรัฐบาลไปว่ากัน แต่เรายอมไม่ได้ที่ประเทศไทยกำลังเดินทางมาถึงจุดที่จะได้เปรียบคนอื่นแล้ว เราจะทำต่อ จะไม่หมกมุ่นกับคำถามกับปัญหาเป็นเรื่องเล็กมาก ที่เขายกกันขึ้นมา มันมีทางออกยกเว้นเรื่องของสถาบันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในเรื่องอื่นๆที่ร้องขอ สามารถแก้ไขกันได้


“เราต้องให้น้องรุ่นหลังได้เห็นว่า ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ต้องช่วยกันทำให้เด็กรุ่นหลังได้เห็นว่า ผู้ใหญ่เขารู้ว่าประเทศชาติต้องเดินไปข้างหน้า รู้ว่าเวลานี้ต้องทำอะไร ทำให้เขาเห็น ทำให้เขาเข้าใจ เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ต้องเก็บรักษาประเทศไทยให้ดีที่สุดเพื่อคนรุ่นใหม่ วันนี้เขาจะคิดอย่างไร เขาจะหลงผิด คิดสั้นแตกต่างจากเราอย่างไร ให้แก้ไขด้วยวิธีการทางนิติบัญญัติและทางการเมือง”


ส่วนอีกคำถาม ได้มีนักธุรกิจเสนอให้รัฐบาลช่วยภาคธุรกิจด้วยวิธีจ่ายเงินเดือนให้กับแรงงาน เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน หรือคนละ 30,000 บาท เพื่อรักษาการจ้างงานเอาไว้ ถ้าช่วย 1 ล้านคน จะใช้งบประมาณ 30,000 ล้านบาท และ 3 ล้านคนใช้งบประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลคุยกันเยอะ ประเทศไทยมีคนในระบบแรงงาน 33 ล้านคน เวลารัฐบาลจะชี้ว่าใครเดือนร้อนชี้ยาก เพราะทุกคนจะบอกว่าเดือดร้อนหมด จึงต้องช่วยบางส่วน และเลือกที่จะช่วยนักศึกษาจบใหม่ 260,000 คน


ด้านนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า นักธุรกิจจีนยังมีความพร้อมมมาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เช่น มีทุนใหญ่ 2 รายซื้อที่ดินไว้แล้วเตรียมลงทุนสมาร์ทซิตี้ ที่จ.ฉะเชิงเทรา 2,000-3,000 ไร่และที่เมืองพัทยา 700 ไร่ แต่ยังรอการเปิดประเทศของไทย ที่ผ่านบางรายที่ลงทุนไว้แล้วและจำเป็นต้องเข้ามาผ่านระบบการกักตัว 14 วันเดินทางเข้ามาแล้วนับร้อยคน และยังมีรอเตรียมเข้ามาอีกนับพันคน