“สุชาติ”​ ส่งแรงงานไปทำงานภาคเกษตรที่อิสราเอล 142 คน

  • ปลื้ม! ปี 64 ต้องการแรงงานไทยทะลุเป้า
  • นายกฯ ฝากกำชับแรงงานตั้งใจทำงาน ปฏิบัติตนตามกฎหมายของอิสราเอล ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
  • ทำงานเก็บเงินเพื่อนำมาเป็นทุนประกอบอาชีพต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแรงงานไทย จำนวน 142 คน ที่เดินทางไปทำงานในภาคเกษตรภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers :TIC) ณ สนามบินสุวรรณภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

 โดยนายสุชาติ กล่าวว่า  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการส่งเสริม แรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อมีงานทำ นำรายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดนับว่าน่ายินดีที่นายจ้างอิสราเอลมีความต้องการจ้างแรงงานไทยเพิ่มจากโควตาเดิม โดยยังต้องการแรงงานไทยเข้าไปทำงานอีก 1,000 คน ในวันนี้ผมตั้งใจมาให้กำลังใจท่านก่อนที่จะเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอล ขอให้พี่น้องแรงงานทุกท่านปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อย่างเคร่งครัด ขอให้มีความขยัน อดทนตั้งใจทำงาน และปฏิบัติตนตามกฎหมายของอิสราเอล ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งของมึนเมาและการพนัน หากรู้จักเก็บออม เรียนรู้ ภายหลังจากครบสัญญาก็สามารถนำเงินเก็บ และประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานทางเกษตร กลับมาพัฒนาประเทศและเป็นต้นทุนประกอบอาชีพของตนเอง 

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในวันนี้มีแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล จำนวน 142 คน โดยแรงงานเหล่านี้จะเดินทางด้วยเที่ยวบินของสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY 088 ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทยเวลา 23.55 น. และมีกำหนดถึงปลายทางกรุงเทลอาวีฟ เวลา 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งคนงานเหล่านี้จะต้องกักตัว 14 วัน เมื่อครบกำหนดจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ตามมาตรการรัฐอิสราเอล ในแต่ละปีประเทศไทยได้รับโควตาในการจัดส่งปีละ 5,000 คน สำหรับปีงบประมาณนี้มีการจัดส่งไปแล้วจำนวน 5,440 คน ไม่นับรวมที่เดินทางวันนี้ 142 คน และวันที่ 30 สิงหาคมนี้อีก 200 คน ซึ่งถือว่าจัดส่งได้มากกว่าเป้าหมาย การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน

ที่อิสราเอล เป็นไปตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล ตามโครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) 

มีระยะเวลาการจ้างงานครั้งแรก 2 ปีและสามารถทำงานได้ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน ขึ้นอยู่กับการต่ออายุใบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติของนายจ้างและวีซ่าการทำงานตามกฎหมายรัฐอิสราเอล โดยแรงงานไทยจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 54,590 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น)  

ปัจจุบันรัฐบาลอิสราเอลมีนโยบายลดการนำเข้าแรงงานต่างชาติ เนื่องจากอัตราการว่างงานในประเทศสูง จึงอนุญาตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยกำหนดประเภทงานที่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติสามารถทำได้ 4 ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการร้านอาหาร/ภัตตาคาร ภาคการดูแลคนชรา/คนพิการ และภาคก่อสร้าง ซึ่งมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในอิสราเอล ทั้งสิ้น 25,000 คน โดยนายจ้างอิสราเอลยังมีความต้องการจ้างแรงงานไทยเพิ่มจากโควตาปี 64 อีก 1,000 คน ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานไทยมีฝีมือและมีความสื่อสัตย์จนเป็นที่ต้องการของนายจ้าง

“กระบวนการจัดส่งของกรมการจัดหางาน มีการคัดเลือกที่โปร่งใสตั้งแต่การรับสมัคร การสัมภาษณ์ การทำสัญญาจ้างงาน และการตรวจสอบข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเดินทางแรงงานไทยทั้งหมดจะได้รับการอบรมเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในประเทศและการปฏิบัติตัว วิธีเดินทางออกและกลับเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมาย สัญญาจัดหางาน สัญญาจ้างงาน ช่องทางการติดต่อขอความช่วยเหลือหน่วยงานราชการไทยในต่างประเทศ และสิทธิประโยชน์กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ”

#Thejournalistclub #แรงงาน #โควิด