สำรวจเตาเผาศพใน 189 วัด เขต กทม.และปริมณฑล ได้มาตรฐาน

  • สาธารณสุข “แนะแนวทางจัดการศพผู้ป่วยโควิด 19
  • บรรจุถุงซิปล๊อคตามมาตรฐานการไม่สามารถแพร่เชื้อได้
  • ให้ญาติดำเนินการเผาหรือฝังทันที ห้ามเปิดถุงบรรจุศพเด็ดขาด

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับเตาเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 มีลักษณะร้าวจากการใช้งาน ประชาชนกังวลเรื่องการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน นั้น ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกรมอนามัย ได้ส่งทีมวิศวกรทางการแพทย์และวิศวกรอาสา ลงพื้นที่สำรวจเตาเผาศพในวัดที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งมีทั้งหมด 189 วัด ขณะนี้ตรวจสอบไปแล้ว 31 วัด จากการตรวจสอบระบบและโครงสร้างเตาเผา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทางวัด พบว่า เตาเผาศพมีมาตรฐาน ไม่มีการแพร่เชื้อโควิด ส่วนรอยร้าวที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการใช้งานอย่างหนัก เกินศักยภาพที่ส่วนใหญ่เผาศพได้ 2-4 ศพ/วัน ความสามารถและเวลาในการเผาขึ้นอยู่กับชนิดของเตา อายุการใช้งาน และร่างของผู้เสียชีวิต ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนา วัดในกรุงเทพมหานครมี จำนวน 92 แห่ง เผาศพไปแล้ว 3,067 ศพ วัดในจังหวัดนนทบุรี จำนวน 42 แห่ง เผาศพไปแล้ว 1,067 ศพ และวัดจังหวัดปทุมธานี จำนวน 55 แห่ง เผาศพไปแล้ว 222 ศพ พบว่ารองรับการจัดการศพในสภาวะวิกฤตนี้ได้ถึง 2 เท่า 

“ขอให้ความมั่นใจว่าเตาเผาศพที่ได้ไปตรวจสอบมีมาตรฐานและระบบรองรับ มีความปลอดภัยกับชุมชนโดยรอบ แต่การดำเนินจัดการเผาศพผู้ติดเชื้อต้องเป็นไปตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง” นายแพทย์ธเรศกล่าว

นอกจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำระบบ GIS รวบรวมข้อมูลรายชื่อวัดที่รับฌาปนกิจผู้ติดเชื้อโควิด19 ฟรี สำหรับประชาชน สถานพยาบาล หน่วยกู้ภัย และการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถค้นหาวัดที่อยู่ใกล้ และสถานที่ตั้ง เพื่อการกระจายไปฌาปนกิจยังวัดต่างๆ ลดโหลดการใช้งานเตาเผาให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ดาวน์โหลดระบบ GIS ได้ที่เว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมอนามัย สำหรับวัดที่มีปัญหาเกี่ยวกับเตาเผาศพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้รวบรวมข้อมูลบริษัทผลิตและจำหน่ายเตาเผาศพไว้เพื่อสะดวกในการติดต่อสอบถาม

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย  กล่าวว่า การจัดการศพผู้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด19 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ กรมอนามัยได้จัดทำ 3 แนวทาง ดังนี้ 1) ยืนยันสาเหตุการตาย โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เสียชีวิตในโรงพยาบาล จะดำเนินการโดยทีมจัดการศพ โดยศพผู้เสียชีวิตจะถูกบรรจุใส่ถุงบรรจุศพ 2 ชั้น และทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายนอกถุงบรรจุศพตามมาตรฐาน ส่วนกรณีที่ 2 เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ทีมจัดการศพจะนำศพใส่ถุงบรรจุศพ 2 ชั้นตามมาตรฐาน และแจ้งพนักงานสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือพนักงานควบคุมโรคติดต่อของโรงพยาบาล 2) แจ้งตายตามขั้นตอน และออกใบมรณบัตรภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อนำไปฌาปนกิจ และ 3) การขนศพผู้เสียชีวิตและการประกอบพิธีทางศาสนา กรณีญาติมีความพร้อม หลังจากที่ญาติรับทราบแนวปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และมีใบมรณบัตร สามารถประสานวัดและอาสาสมัคร หรือกู้ภัย หรือมูลนิธิ เพื่อขนศพ แต่หากญาติไม่มีความพร้อมหรือติดโควิดทั้งครอบครัว และศพไม่มีญาติ ให้แจ้งโรงพยาบาลเพื่อประสานกับทางวัดเพื่อดำเนินการขนศพ

ส่วนการจัดพิธีศพทางศาสนา ทั้งการเผาศพหรือฝังศพทั้งถุง ขอให้ดำเนินการในพื้นที่ที่จัดเตรียมเฉพาะ ห้ามเปิดถุงบรรจุศพอย่างเด็ดขาด ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยให้ใช้เตาเผาศพเท่านั้น หลีกเลี่ยงการเผากลางแจ้ง และควรใช้เตาเผาศพปลอดมลพิษแบบสองห้องเผา ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาศพไม่น้อยกว่า 760 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในห้องควันไม่น้อยกว่า 1,000 องศาเซลเซียสตลอดระยะเวลาการเผาศพ ซึ่งควันที่ลอยจากปล่องจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้ และระหว่างการเผาศพไม่ควรเปิดประตูเตาเผาศพ หลีกเลี่ยงการเขี่ยหรือพลิกศพ และไม่ควรนำสิ่งของอื่นๆ เข้าเตาเผาเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการทำงานของเตาเผา และอาจเกิดสารตกค้างอื่นๆ

 ทั้งนี้ เมื่อเผาศพเสร็จเรียบร้อยแล้วถือได้ว่าเชื้อโรคถูกเผาทำลายไปหมดแล้ว สามารถเก็บกระดูกเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลได้ ส่วนพระสงฆ์ที่ประกอบพิธี และผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ได้สัมผัสกับศพโดยตรง ไม่จำเป็นต้องใส่ชุด PPE  และผู้ร่วมพิธีต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากอาจสัมผัสเชื้อจากบุคคลอื่นหรือจุดสัมผัสร่วมได้ ภายหลังเสร็จพิธีเผาศพเมื่อกลับถึงบ้านให้อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที