สาหัสแค่ไหน : ธนาคารโลกเผยสำรวจโควิด-19 ในไทย

ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แม้ว่า ในขณะนี้อาจจะไม่รุนแรงเหมือนในช่วงก่อนหน้า และหลายๆ ประเทศเริ่มมี “มุมมองใหม่” ที่จะปรับการใช้ชีวิต และการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สามารถที่จะดำเนินไปพร้อมๆ กับการป้องกัน และเฝ้าระวังการระบาดครั้งใหม่ๆ ของโควิด-19 

ขณะเดียวกัน ในระหว่างนี้ รัฐบาลทุกประเทศมีหน้าที่เดียวกัน คือ “เยียวยาบาดแผล” ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่โควิด-19 ทิ้งไว้

สำหรับการระบาดของโควิด-19 ในไทยนั้น ในฐานะที่เป็นประเทศที่สองที่มีรายงานเคสผู้ป่วยโควิด-19 ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563  “ธนาคารโลก”  ได้ตามติดผลกระทบของโควิด-19 ในประเทศไทย ทางสังคมและเศรษฐกิจโดยธนาคารโลกได้ออกเงินทุนสนับสนุนแกลลัพโพล (Gallup Poll) ให้ดำเนินการสeรวจทางโทรศัพท์อย่างรวดเร็วตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

สัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปี ประมาณ 2,000 คน ครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้ การจ้างงาน แหล่งที่มาของรายได้ครัวเรือน การเข้าถึงอาหารและความมั่นคงทางอาหาร การคุ้มครองทางสังคมและกลไกการรับมือ การเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงบริการสุขภาพและวัคซีนป้องกันโควิด-19

โดยพบว่า หลังจากมีการรายงานเคสผู้ป่วยโควิด-19 เคสแรกในเดือนมกราคม รัฐบาลไทยสามารถควบคุมและ ตรึงให้ผู้ป่วยโควิด-19 มีจำนวนน้อยจนถึงเดือนกันยายนปีเดียวกัน เนื่องด้วยประกาศใช้มาตรการควบคุมได้อย่างทันท่วงที และกลยุทธ์ติดตามผู้สัมผัสที่มีประสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของมาตรการของรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าจะช่วยชะลอการระบาดของโรคในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ แต่มาตรการเหล่านี้ก็ส่งผลให้ประชาชนหลายครอบครัวต้องออกจากงาน สูญเสียรายได้ ปิดกิจการ และปราศจาก ความมั่นคงทางอาหาร เด็กจำนวนมากมีการศึกษาที่ขาดตอนด้วยเช่นกัน  

ทั้งนี้ ธนาคารโลก ได้เปิดเผยข้อค้นพบสำคัญต่างๆ ของเศรษฐกิจและสังคมไทย ทั้งหมด 6 ประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจ และสังคมไทย ในระดับฐานะต่างๆ ซึ่งจะสามารถสะท้อนปัญหา และความสามารถในการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น

ประเด็นการจ้างงาน :

การจ้างงานระดับชาติมีอัตราคงที่อยู่ที่ 68%ของจำนวนแรงงาน  ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2564 ทว่าอัตราดังกล่าวแตกต่างออกไปตามภูมิภาคและกลุ่มประชากร โดยเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับถิ่นฐานจำนวนมาก

โดยแถบพื้นที่เมืองและเมืองหลวงมีอัตราการจ้างงานลดลง 8% ในขณะที่แถบพื้นที่ชนบทและภาคเหนือมีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น 8 % เนื่องจากคนจำนวนมากที่ต้องออกจากงานเพราะสถานการณ์โรคระบาดหวนกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรในชนบท

ทั้งนี้ผู้ตอบสำรวจกว่า 50% ได้รับผลกระทบด้านการงาน บางคนต้องออกจากงาน หยุดงานชั่วคราว ถูกลดชั่วโมงทำงานหรือได้รับค่าตอบแทนที่น้อยลง

ประเด็นรายได้ :

ครัวเรือนที่ให้สัมภาษณ์กว่า 70%  มีรายได้ลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ขณะที่ครัวเรือนในแถบพื้นที่ชนบทภาคใต้ และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำประมาณ 80% มีรายได้ลดลง

ทั้งนี้ การทำเกษตรกรรมและประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตรกรรรมได้รับผลกระทบอย่างมากจากรายได้ที่ลดลง ประมาณ50% มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ครัวเรือนในแถบพื้นที่ภาคใต้และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีรายได้ลดลงมากที่สุด

ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร :

ครัวเรือนจำนวนมากรายงานว่า “ขาดแคลนอาหาร”  โดย 60 % เกิดขึ้นในหมู่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และครัวเรือนที่มีเด็ก

ทั้งนี้ ครัวเรือนใช้กลไกรับมือหลายตัวในช่วงวิกฤต โดยกลไกที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือ การลดปริมาณการบริโภคอาหาร และสิ่งอื่นๆ ขณะที่การพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล การหันไปใช้เงินออม การหารายได้เสริมจากช่องทางอื่นมากขึ้น

ประเด็นความคุ้มครองทางสังคม :

การช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นประเด็นที่ได้รับผลสำเร็จค่อนข้างดี

ครัวเรือนจำนวนกว่า 80 % ระบุว่า ได้ประโยชน์จากโครงการช่วยเหลือในสภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลที่ริเริ่มในปี 2563 โดยเฉพาะคิดเครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และผู้ที่มีรายได้ปรับลดลงอย่างรุนแรง ได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 90% 

นอกจากนั้น สัดส่วนผู้ขอรับประโยชน์จากสวัสดิการสังคมในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึงเกือบสองเท่า

ประเด็นด้านการศึกษา :

จากการสำรวจพบว่า  90% ของครัวเรือนที่สำรวจ มีเด็กอายุ 6 ถึง 17 ปีที่ยังศึกษาทั้งระบบออนไลน์ และออฟไลน์ในภาคเรียนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนนี้น้อยลงในหมู่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ โดยเข้าศึกษา 86% เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้ที่เด็กสูงกว่า 96% ได้เข้าศึกษา โดยเด็กกว่าครึ่งหนึ่งเข้าศึกษาในลักษณะผสม (ทั้งแบบพบกันในชั้นเรียนและเรียนทางไกล) และอัตราหนึ่งในสี่เข้าศึกษาแบบพบกันในชั้นเรียนเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ตอบการสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ ประมาณ 57% บ่งชี้ว่าเด็กในครัวเรือนประสบกับปัญหาด้านการเรียนโดยเด็กในพื้นที่ชนบทและครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มว่าจะมีอุปสรรคด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ในการเรียนสูงกว่า

ประเด็นด้านสุขภาพ :

จากการสำรวจพบว่า ครัวเรือนประมาณหนึ่งในสามที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ ยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการ ดังกล่าวได้ เนื่องจากกังวลว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ในด้านการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ทราบดีว่าวัคซีนมีพร้อมให้บริการหรือไม่สามารถเข้ารับที่ใดบ้างผ่านทางสื่อและสื่อสังคมต่างๆ

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการสำรวจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 64 ณ เวลาที่ดำเนินการ สังคมไทยยังความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทไให้ ประชาชนลังเลไม่กล้าฉีดวัคซีน ในกลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูง มีรายได้ต่ำ และกลุ่มเยาวชนกว่า 36% ไม่มีแผนจะเข้ารับการฉีดคซีน แต่ประเด็นนี้ปรับตัวดีขึ้นแล้วในระยะต่อมา