“สาธิต”​เดินหน้ากระตุ้นประชาชนใช้สมุนไพรพื้นบ้านประกอบอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพ “ อาหารเป็นยา”

  • ป้องกันกลุ่มโรคไม่ติดต่อ
  • ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร สร้างรายได้
  • สร้างเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยในงานมหกรรมอาหารเป็นยา วิถีชุมชน เพื่อคนสระบุรี พร้อมมอบป้าย “อาหารเป็นยา” ให้แก่ร้านอาหารที่มีเมนูสมุนไพรชูสุขภาพ จำนวน 35 ร้าน ว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งเกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น การบริโภคอาหารหวานจัด เค็มจัด ไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยในปี 2560 – 2564 พบคนไทยเกินครึ่งกินผักไม่เพียงพอ การกินน้ำตาลและไขมันมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และไขมันในเลือดสูง ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้ชีวิตแบบสมดุล กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายขับเคลื่อน โครงการ “อาหารเป็นยา” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้นำสมุนไพรที่มีในแต่ละท้องถิ่นมาใช้ประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค รวมถึงในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ประชาชนมีความต้องการอาหารที่จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง โครงการ“อาหารเป็นยา” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชน ในการเลือกรับประทานอาหารสุขภาพที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง

ทั้งนี้จังหวัดสระบุรี ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองสมุนไพร 1 ใน 14 จังหวัดนำร่องของประเทศ มีการดำเนินงานอย่างครบวงจรต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังเป็นจังหวัดนำร่องโครงการอาหารเป็นยา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ ร่วมกันสร้างและรวบรวมองค์ความรู้ตามวิถีชีวิตของชาวสระบุรี การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพผ่านช่องทาง E-book รวมถึงส่งเสริมการปลูกสมุนไพร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคมจังหวัดสระบุรีอย่างยั่งยืน โดยภายในงานมีกิจกรรม อาทิ การเสวนาวิชาการ การบรรยายและสาธิตการปรุงอาหารสมุนไพร บูธความรู้ทางวิชาการ บูธจำหน่ายสินค้าอาหารเป็นยา และการสาธิตชุดความรู้อาหารเป็นยาวิถีชุมชนเพื่อคนสระบุรี รวม 35 บูธ 

 “ขอให้ใช้จุดแข็งของประเทศไทย ที่มีทั้งพืชผัก ผลไม้ สมุนไพรหลากหลายในท้องถิ่น นำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย พร้อมทั้งถ่ายทอดข้อมูลให้กับประชาชน รวมถึงผู้เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะขยายโครงการอาหารเป็นยาให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป “