“สาธารณสุข” แจง 7-20 มิ.ย. กระจายวัคซีน 3 ล้านโดส

  • เป็นไปตามแผน กรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนสูงสุด
  • การจัดสรรวัคซีนต้องพิจารณาข้อมูลวิชาการ
  • สถานการณ์การระบาดและความจำเป็นของพื้นที่

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับทุกคนในประเทศไทย โดยจัดหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องได้ร้อยละ 70 ของประชากร คิดเป็น 50 ล้านคนหรือ 100 ล้านโดส ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงปัจจุบันมีวัคซีนแล้ว 8.1 ล้านโดส เป็น แอสตร้าเซนเนก้า 2.1 ล้านโดส และซิโนแวค 6 ล้านโดส มีการฉีดวัคซีนสะสม 6.2 ล้านโดส โดย กทม.ฉีดสูงสุด 1,716,394 โดส คิดเป็นร้อยละ 27.7 แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,346,993 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 369,401 โดส ทั้งนี้ วัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินจึงต้องสั่งซื้อโดยการจอง เป็นลักษณะของการผลิตไปทยอยจัดส่งไป เพื่อให้วัคซีนถึงประชาชนเร็วที่สุด ดังนั้นจึงมีการทำสัญญากำหนดว่าจะทยอยส่งเป็นงวดๆ

สำหรับการจัดสรรวัคซีนพิจารณาทั้งข้อมูลวิชาการ พื้นที่ จำนวนประชากร สถานการณ์การระบาด นโยบายอื่นๆ ของจังหวัด ทำให้แต่ละจังหวัดได้รับสัดส่วนวัคซีนแตกต่างกัน ส่วนการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายจะเน้นที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อ/สอบสวนป้องกันโรค ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ฉีดได้เกือบครบ 100% แล้ว รวมถึงบุคลากรด่านหน้าอื่นๆ เช่น ตำรวจ ทหาร อสม. สำหรับการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นวาระแห่งชาติ มีเป้าหมายฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพราะหากติดเชื้อมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเปิดจองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อมล่วงหน้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ยังฉีดให้กลุ่มเป้าหมายเฉพาะอื่นๆ เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมการเปิดเทอม ผู้ทำงานขนส่งสาธารณะ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประชาชน และกลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพื่อให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้ เดือนมิถุนายนวางแผนการกระจายวัคซีนเป็น 2 งวดครอบคลุมการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์ โดยงวดแรกฉีดตั้งแต่วันที่ 7-20 มิถุนายน ประมาณ 3 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 1 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส จัดส่งไปยัง กทม.แล้ว 5 แสนโดส ประกอบด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส นอกจากนี้ ได้ส่งให้สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดส เป็นการฉีดใน กทม.เป็นหลัก และมหาวิทยาลัย 11 แห่งตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อีก 1.5 แสนโดสฉีดใน กทม.เป็นหลักเช่นกัน ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งตามแผนต่อไป ส่วนงวดที่ 2 สำหรับวันที่ 21 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม อีก 3.5 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส รวมจำนวนมากกว่า 6.5 ล้านโดส

#Thejournalistclub #วัคซีนโควิด19#หมอพร้อม