“สาธารณสุข” ยันไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด

  • ขึ้นทะเบียนแล้ว 3 ราย
  • “แอสตร้าเซนเนก้า”ส่งมอบ ทัน มิ.ย.นี้
  • วัคซีนรุ่นสองรองรับเชื้อกลายพันธุ์

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่เคยปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนโควิด 19 ได้เชิญชวนให้มาขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนติดต่อนำเข้าและขึ้นทะเบียน 14 ราย ยื่นเอกสารและได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนแล้ว 3 ราย คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัทซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัทแจนเซ่น-ซีแลค จำกัด และอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน 1 ราย คือ วัคซีนบารัต โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

  สำหรับบริษัทอื่นๆ ขอเชิญชวนให้มายื่นขึ้นทะเบียน ซึ่งขณะนี้รอเพียงการยื่นเอกสารต่างๆ เข้ามาให้ อย.พิจารณาเท่านั้น โดยจะพิจารณาทั้งความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล มีช่องทางพิเศษรองรับแต่ยังคงมาตรฐานสากล ใช้เวลาพิจารณา 30 วันหลังจากยื่นเอกสารครบถ้วน สำหรับโรงพยาบาลเอกชนสามารถนำวัคซีนไปบริการฉีดได้ แต่เนื่องจากเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจะต้องมีการควบคุม ลงทะเบียนผู้รับบริการ ติดตามความปลอดภัย ผลข้างเคียงต่างๆ ด้วย

ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ดำเนินการได้ผลดี มีรอบการผลิตครั้งละ 2 พันลิตร อยู่ระหว่างส่งตัวอย่างวัคซีนไปตรวจสอบคุณภาพในห้องปฏิบัติการอ้างอิงของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่สกอตแลนด์และสหรัฐอเมริกา คาดว่าผลการตรวจรับรองคุณภาพวัคซีนจะทยอยกลับมาช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นต้นไป   เป็นไปตามแผนและทันต่อการส่งมอบวัคซีนในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ส่วนวัคซีนของซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส จะส่งมอบวันที่ 10 เมษายนนี้ เมื่อตรวจสอบคุณภาพแล้วก็จะกระจายวัคซีนตามความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ในช่วงที่มีการระบาด

ส่วนกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในยุโรป พบว่า หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหภาพยุโรป สรุปว่ามีความเป็นไปได้ที่สัมพันธ์กับวัคซีน แต่เกิดขึ้นได้น้อยมากอัตรา 2-4 ต่อการฉีด 1 ล้านโดส ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากรับวัคซีนเข็มแรก แต่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นในคนไทยน้อยมาก จึงยังไม่มีข้อแนะนำให้หยุดการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม จะเก็บข้อมูลต่อว่ามีความเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ และจะขอข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศอื่นด้วย รวมถึงติดตามข้อสรุปจากองค์การอนามัยโลก

นายแพทย์นคร กล่าวว่า สำหรับข้อสงสัยการจัดหาวัคซีนรองรับเชื้อกลายพันธุ์ที่ขณะนี้มีการพบในกลุ่มสถานบันเทิง ขอชี้แจงว่าต้องตัดสินใจบนฐานข้อมูลและมองไปถึงอนาคต หากเจรจานำเข้าวัคซีนตอนนี้กว่าจะได้รับวัคซีนก็ประมาณเดือนตุลาคม แต่ไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอด หากมีการกลายพันธุ์อีกก็จะเกิดปัญหาเช่นเดิมอีก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทต่างๆ ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนรุ่นสองสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งการที่ประเทศไทยมีโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศถือเป็นข้อดี เพราะเมื่อแอสตร้าเซนเนก้าพัฒนาสำเร็จก็จะส่งต้นแบบวัคซีนที่รองรับการกลายพันธุ์มาผลิตได้ ซึ่งวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อ 61 ล้านโดสก็มีโอกาสผลิตเป็นวัคซีนที่รองรับการกลายพันธุ์ นอกจากนี้ หน่วยงานวิจัยวัคซีนในประเทศก็กำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นสองรองรับการกลายพันธุ์ด้วยเช่นกัน

“หลายคนถามว่าวัคซีนยี่ห้อไหนดีกว่ากัน ตอบได้ว่าดีทั้งนั้น ขอให้มาถึงแขนเร็วที่สุด หากสถานพยาบาลติดตามให้มารับวัคซีนก็ขอให้มารับตามนัด และรับให้ครบทั้งสองเข็มเพื่อให้ได้ผลป้องกันเต็มที่ อย่างไรก็ตามเมื่อฉีดแล้วก็ยังต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างจนกว่าการระบาดจะจบ หากประมาทลดการ์ดลงอาจเสี่ยงติดเชื้อได้ เนื่องจากวัคซีนทุกตัวไม่ได้ป้องกันติดเชื้อ 100% แต่ทำให้ลดการป่วย อาการรุนแรงน้อยลงและลดการเสียชีวิต” นายแพทย์นครกล่าว

#Thejournalistclub #โควิด19 #สงกรานต์ปี64 #วัคซีน #สาธารณสุข #อย.