เปิดใจประธานสอท. “ความคาดหวัง” และ “งานเร่งด่วน” สำหรับรัฐบาลใหม่

สัมภาษณ์พิเศษ: เปิดใจประธานสอท. “ความคาดหวัง” และ “งานเร่งด่วน” สำหรับรัฐบาลใหม่

  • ภาคเอกชนฝากการบ้าน 6 ข้อต้องเดินหน้า
  • สานต่อBCG สร้างความยั่งยืน-เร่งปิดจ๊อบอีอีซี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “The Journalist Club” ถึงการคาดหวังในการเลือกตั้งวันนี้( 14 พ.ค.)และสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามา ได้ขับเคลื่อนงานสำคัญเร่งด่วนซึ่งมีทั้งหมด 6 ข้อเสนอ

ประธานสอท.เริ่มต้นพูดถึงการคาดหวังสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า หวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ได้เห็นความชัดเจนของพรรคที่ได้เสียงส่วนใหญ่จะเป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไป ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ประชาชนตื่นตัว อยากแสดงออกถึงการใช้สิทธิมากมายขนาดนี้

สิ่งต่อมาคือต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นโดยเร็ว โดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน(กกร.)ได้คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การฟอร์มจัดตั้งรัฐบาลอย่างเร็วน่าจะได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2556 แต่ถ้าเร็วกว่านั้นได้จะยิ่งดี ในทางตรงกันข้าม ถ้ายิ่งยืดเยื้อจะเกิดความเสียหายต่อประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้คาดหวังให้รัฐบาลชุดใหม่มีเสถียรภาพ ไม่เป็นรัฐบาลที่ง่อนแง่น จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ ที่เฝ้าจับตามองประเทศไทยอยู่ว่าจะมีทิศทางไปอย่างไรหลังเลือกตั้ง

ยิ่งสถานการณ์โลกมีความผันผวนสูงรัฐบาลชุดใหม่ยิ่งมีความสำคัญที่จะก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์หรือจีโอโพลิติกส์ ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตและรอที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ประเทศไทยอยู่ในเป้าเรดาห์ของนักลงทุนต่างประเทศ ความมีเสถียรภาพของการเมืองจึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุนได้ง่ายขึ้นทั้งคนไทยและต่างชาติที่ชะลอดูอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้รัฐบาลชุดใหม่ยังมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบทำคือ การแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน ที่มีรายได้ยังไม่มาก แต่มีค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพสูงมาก เป็นภาระหนักของประชาชนทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ต้นทุนด้านพลังงาน ค่าไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย รวมไปถึงผลกระทบต่อภาคบริการ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะทำอย่างไรให้สามารถฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะปัญหาการลดหนี้ภาคครัวเรือนของประชาชนลง ซึ่งขณะนี้แตะไปที่ระดับ 90% และจะทำอย่างไรที่จะให้สามารถลดหนี้ภาคเอสเอ็มอีลงได้ด้วยเช่นกัน ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการบริการจากภาครัฐ เงินทุน สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้

ขณะเดียวกันกกร.ได้จัดทำข้อเสนอ 6 ข้อไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆที่คาดว่าจะเป็นรัฐบาล เพื่อปรับโครงสร้างในด้านต่างๆประกอบด้วย

1.เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำอย่างไรที่จะให้ราคาพลังงาน และต้นทุนลดลง รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในด้านต่างๆ เช่น เรื่องน้ำ โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการเจรจาเอฟทีเอกับต่างประเทศซึ่งประเทศไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคแล้วถือว่ามีน้อย มีแต้มต่อต่ำ  วัตถุดิบแพง และผลกระทบจากซัพพลายเชนดิสรัปชั่น

2.ความง่ายในการลงทุน (ease of doing business)การแก้ไขกฎหมายเก่าที่เป็นอุปสรรคต่อชาวต่างชาติ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย อยากให้เร็วต้องจ่ายใต้โต๊ะ เกิดคอร์รัปชัน ทั้งคนไทยและต่างชาติบ่นเรื่องนี้กันมาก

3.ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น การเดินหน้าสู่รัฐบาลดิจิทัล เป็นสังคมไร้เงินสด เกิดความสะดวกและง่ายในการลงทุน ลดขั้นตอน ช่วยประหยัดเงิน และการคอร์รัปชันลดลง

4.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โลกในอนาคตทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญ คนที่เก่งมีทักษะสูงเป็นที่ต้องการ ซึ่งขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ บริษัทยอมจ่ายค่าแรงวันละ 600-800 บาท แต่หาแรงงานมีทักษะไม่ได้

5.การทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ปลดล็อกให้เอสเอ็มอี  เพิ่มขีดความสามารถให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี รู้จักการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยี  เป็นเอสเอ็มอีที่เชื่อมกับห่วงโซ่การผลิตของตลาดโลกได้

6.ความยั่งยืนหรือ Sustainability ทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ภัยพิบัติก็ร้ายแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ มีสัญญาณชัดเจนในเรื่องนี้ เช่น น้ำท่วม หิมะตกมากผิดปกติ อากาศร้อนจัด หรือเกิดพายุเฮอริเคน แผ่นดินไหวถี่ขึ้น โลกพังแน่ถ้าไม่ทำอะไร

“การทำธุรกิจ กำไรก็ต้องมี แต่ต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยต้องปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็มีนโยบายที่ดีคือเรื่องBCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลใหม่อาจจะมีปัญหาเนื่องจากมักจะไม่ทำนโยบายเดิมของรัฐบาลชุดก่อนหน้า เหมือนไปให้เครดิต” ประธานสอท.กล่าว

ทั้งนี้อยากขอให้มองผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก อย่าให้เสียของ รวมไปถึงนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) อยากให้เดินหน้าต่อ เพราะนักลงทุนต่างชาติเข้ามาจับจองพื้นที่กันแล้ว รัฐบาลใหม่ควรเข้ามาเร่งโครงการอีอีซีให้จบ จะเกิดการลงทุนมหาศาล