สศอ.ชงปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนสู่ยุค4.0

  • สศอ. จัดประชุมวิชาการทำแนวทางปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
  • เตรียมเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้เตรียมการจัดงานประชุมนานาชาติเรื่อง การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และการปรับตัวของผู้ประกอบการ และกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ในการรับมือ และใช้ประโยชน์จากกระแสการเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ Fourth Industrial Revolution (4IR) โดยข้อสรุปที่ได้จากการประชุมครั้งจะเป็นส่ว่นหนึ่งของเอกสารผลลัพธ์สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายปีนี้


นายณัฐพล กล่าวว่าสศอ. ได้ผลักดันข้อริเริ่มเพื่อดำเนินการ ให้เกิดผลลัพธ์ในอาเซียน คือ การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยจากผลการประเมินความพร้อมของอาเซียนต่อการเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ตามวิสัยทัศน์ของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 30 เมื่อปี25602 ที่พบว่าอาเซียนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ 4IR อย่างเต็มที่ในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และส่งเสริมการเติบโตอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความมั่นคง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนทักษะกำลังคนภาคอุตสาหกรรม ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลในยุค 4IR


สศอ. จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานดังกล่าว ประกอบด้วย 1. แผนการระยะเร่งด่วน คือ การจัดทำปฏิญญาอาเซียน เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดย สศอ. ได้กำหนดจัดการประชุมนานาชาติ ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และการระดมความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแผนที่นำทาง เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0


2. ในระยะกลางถึงระยะยาว ประเทศไทยจะผลักดันให้มีการดำเนินการตามแผนที่นำทาง รวมทั้งจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งในระดับคณะทำงาน ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี


ขณะเดียวกัน ในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสมาชิกอาเซียน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสาร และการคมนาคม ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงระเบียบ และการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเชื่อมโยงการให้บริการ ,การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ,การส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างกัน การระบุทักษะที่จำเป็นในการพัฒนากำลังคนให้ก้าวทันเทคโนโลย โดยใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวนำ รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เพื่อช่วยเสริมสร้างการเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างประโยชน์ให้กับภูมิภาคอาเซียนยิ่งขึ้น