สศค.คาดไตรมาส 3 เศรษฐกิจลบน้อยกว่า 12.2% ท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาฟื้น

  • เตรียมปรับเป้าจีดีพีปี 63 ใหม่เดือนต.ค.นี้
  • เดือนส.ค.การบริโภคปรับตัวดีขึ้น
  • หลังรัฐผ่อนคลายให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)​ เปิดเผยว่า สศค.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปี 2563 จะติดลบน้อยกว่า ไตรมาส 2 ที่ติดลบ 12.2% เนื่องจากดัชนีชี้วัดเริ่มฟื้นคืนกลับมา อาทิ การท่องเที่ยวในประเทศเริ่มเห็นสัญญาณค่อยๆ ดีขึ้น จากไตรมาส 2 ติดลบเกือบ 90% ล่าสุดเดือน ก.ค.-ส.ค. ติดลบเหลือ 35% เป็นต้น ส่วนในเดือนต.ค.63 สศค. จะมีปรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)​อีกครั้ง หลังจากที่ได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจทั้งปี 2563 เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ว่าจะติดลบ 8.5% และปี 2564 จะขยายตัว 4-5%

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ยังคงชะลอตัว แต่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ภายหลังมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)​

“เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ณ ระดับราคาคงที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 4.3% จากเดือนก่อนหน้า และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.8% สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 14.8 % จากเดือนก่อนหน้า และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 35.5% เช่นเดียวกันกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวในอัตราชะลอลงที่ 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน “

ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ 9.2 % และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 51.0 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายการป้องกันโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้า ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 84.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ สำหรับภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อาทิ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ เป็นต้น

“สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ที่มีการระบาดทั่วทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่องเป็นที่ 5 นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยหดตัวในอัตราชะลอลงที่ 32.4 %”

ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.5 % และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.3 % ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ค.2563 อยู่ที่ 47.0% ต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนส.ค. 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 2, 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ