สวัสดีปีใหม่..เศรษฐกิจไทย..ใจระทึก!!

เปิดศักราชปีใหม่ เศรษฐกิจไทยปีเสือ กลับสู่การทำงานกันอย่างปกติ แบบไม่ปกติ หรือจะเรียกว่า “ปกติใหม่” (New Normal) อะไรก็ตามแต่ โดยล่าสุด สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้หน่วยงานรัฐทำงานนอกที่ตั้ง หรือกลับไป Work From Home ทำงานที่บ้าน อีกครั้งไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค.

รวมถึงของความร่วมมือหน่วยงานภาคเอกชนที่สามารถดำเนินการให้ขอให้พนักงานกลับไป Work From Home อีกครั้งด้วยเช่นกันในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดรุนแรงครั้งใหม่ของโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เก่า สายพันธุ์ใหม่ ไม่ให้กระจายต่อเนื่อง หลังจบช่วงการเดินทางท่องเที่ยว และเฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการเปิดรับนักท่องเที่ยว และคนไทยจากต่างประเทศนั้น รัฐบาลจะยังคงการระงับการเข้าประเทศแบบ Test & Go หรือกักตัว 1 วันต่อไปอีกระยะ แต่ยังสามารถเข้าประเทศผ่าน Sandbox ซึ่งกักตัว 7 วัน และการกักตัวตามปกติ 10-14 วันต่อไปได้

โดยทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ล่าสุด สายพันธุ์ที่ยังเป็นสายพันธุ์หลักของปะเทศยังเป็น “สายพันธุ์เดลตา” ขณะที่สายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์โอมิคอรอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

และเป้าหมายหลักของไทยในขณะนี้ ไม่ใช่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันให้เหลือศูนย์ แต่คือการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน ไม่ให้เกินความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ 

ซึ่งหากนับแบบเน็ตๆ หรือสุทธิหักลบจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่กับผู้ที่หายออกจากโรงพยาบาลได้ มีการคาดการณ์กันว่าความสามารถในการรับมือแต่ละวันของไทยอยู่ที่หลักพันปลายๆ แต่ไม่ถึงหลักหมื่น

ดังนั้น หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อใหม่หลังจากช่วงนี้ ไต่อยู่ที่ระดับใกล้ๆ หมื่นคนต่อวัน แต่ไม่ทะลุหมื่นขึ้นไป ระบบสาธารณสุขไทยจะสามารถรองรับได้โดยไม่ต้องแย่งเตียง แย่งโรงพยาบาล หรือต้องรอเตียง 3 วัน 7 วัน หรือโรงพยาบาลไม่รับรักษาอย่างที่เคยเกิดขึ้น ระบบสาธารณสุขไม่ล่มสลายเหมือนในช่วงพีคของการระบาดระลอก 3 ช่วงที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาวันละ 15,000-20,000 คน ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนคนเสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้นมาก

“หากระบบสาธารณสุขรองรับคนไข้ได้ ขณะที่จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 -2-3-4 มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามเป้าหมาย เราจะสามารถรักษา “ภูมิคุ้มกันโดยรวม” ของประเทศไว้ในระดับที่ดีต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังจะสามารถที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องไปได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์กันไว้เดิมที่เฉลี่ย 3.5-4%” 

รวมทั้ง มองในแง่ดีจะมีความเป็นไปได้ที่กำลังซื้อในประเทศ และต่างประเทศอาจจะดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ด้วย หากประเทศหลักๆ ของโลก สามารถควบคุมการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

เพราะวันนี้ แม้จะมีข่าวพบโควิดสายพันธุ์ใหม่กว่า โควิด“โอมิครอน” ในประเทศไทยฝรั่งเศส แต่ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคเบากว่าโควิดโอมิครอนด้วยซ้ำ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ในช่วงปีนี้ จะเป็นปีท้ายๆ แล้ว  และในที่สุดโลกสามารถยุติการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19 ได้

ขณะที่ความเสี่ยงอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเป็นห่วง ปัญหาการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้า ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทยนั้น 

เหล่านี้ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ปัญหาในระยะยาว และจะแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น หากเราเข้าสู่การเปิดเศรษฐกิจ และทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถมหลุมรายได้ที่หายไปโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า ภาคครัวเรือนเปราะบางเพิ่มขึ้นจากหนี้ที่สูงอยู่เดิมและถูกซ้ำเติมจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างเอกชนนอกภาคเกษตรที่มีรายได้ต่ำ (น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน) เป็นกลุ่มที่มีรายได้ลดลงมากกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น และเริ่มส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้มาระยะหนึ่งแล้ว 

ส่วนหนึ่งเนื่องจากหนี้ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ และมีภาระผ่อนต่อเดือนสูงจึงมีความอ่อนไหวต่อรายได้ที่ถูกกระทบ ขณะที่ภาระหนี้ของภาคครัวเรือนยังอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจมหภาคผ่านการฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชนในอนาคตอีกด้วย

ขณะที่ธุรกิจ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ และมีธุรกิจที่ประสบปัญหาฐานะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ โดยเฉพาะ SMEs  ที่มีสายป่านสั้น และข้อจำกัดทั้งในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการปรับตัวทางธุรกิจ โดยหากผลกระทบยืดเยื้อจะผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ

ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 ซึ่งเป็นช่วง 4 ปี ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้เราผลกระทบโดยตรงและแรงอาฟเตอร์ช็อกจากโควิด-19 นั้น เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก โดย“หลุมรายได้” หรือรายได้ที่หายไปของคนไทยในทุกระดับรวมกันจะสูงถึง 2.71 ล้านล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่หายไปจาก “คนตัวเล็กๆ” มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่

และหากถามว่า วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหน คิดแบบง่ายๆ จากเปอร์เซนต์ของการขยายตัวเศรษฐกิจในแต่ละปี  ซึ่งจะพบว่า ว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% ปี 2564 คาดว่าจะโตกลับมา 0.9% และปีนี้ปี 2565 คิดตัวเลขโตแบบข้างสูงที่คาดการณ์ไว้คือ 4% จะเห็นได้้ว่า หักลบกลบหนี้แล้ว ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นรวมกันยังไม่เท่าตัวเลขที่ลดลงในปีเดียว

ขณะเดียวกัน คำถามที่ตามมาคือ มาตรการที่จะใช้ดูแล เราควรกลับไป “ล็อกดาวน์” อีกไหม 

เชื่อว่า ทุกคนทุกฝ่าย ทั้งภาคเอกชน ประชาชน รัฐบาลไทย และรัฐบาลทั่วโลก คงเห็นตรงกันแล้ว การล็อกดาวน์ทำร้ายเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิดไว้และเมื่อกลับมาเปิดประเทศเมื่อไร เราก็จะหลีกเลี่ยงการระบาดใหม่ไม่พ้น 

ดังนั้น จุดนี้เวลานี้  มาตรการที่ดีที่สุด น่าจะเป็นการอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ ภายใต้วิถีชีวิตใหม่ ทำงานที่บ้านมากขึ้นใส่หน้ากาก เว้นระยะห่วง รักษาสุขภาพอนามัยที่ดี พร้อมกับใช้มาตรการ “บับเบิ้ล และซีล” ( Bubble and Seal) หรือเข้มงวดปิดกั้นการระบาดเฉพาะพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หากเทียบปีใหม่ 2564 และปีใหม่ 2565 ปีนี้ แนวโน้มปัจจัยบวกในทุกช่องทางของปีนี้ดูดีกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และประเด็นด้านสาธารณสุจ  จึงอยากจะคาดหวังว่า “ประเทศไทยจะสามารถรับมือโอมิครอนได้โดยไม่มีการระบาดรุนแรง” และแม้ว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปในลักษณะ “ทรงๆ” อีกปี แต่จะเป็นปีเสือซุ่ม ที่รักษาอาการบาดเจ็บได้ไว และแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ 

อยากจะเชื่อว่า บทเรียนที่ผ่านมา 2 ปีเต็มๆ จะทำให้ประเทศไทย และโลก ไม่ประมาท เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด และเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และรายได้กลับมาอีกครั้ง 

ลุ้นกันตั้งแต่ต้นปีกันไปด้วยใจระทึก !!