“สวนดุสิตโพล”กาง 5 ปัญหาคนไทย มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้

  • ส่วนมากทำใจยอมรับ
  • สุขภาพ-โรคภัยไข้เจ็บ
  • มีปัญหาเรื่องเงินทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่ได้

วันที่ 25 กันยายน 2565 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,138 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 17-22 กันยายน 2565 หัวข้อ “คนไทยกับการควบคุมอารมณ์” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นกรณีในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าข่าวความรุนแรงในสังคมไทยมีให้เห็นมากขึ้น เกิดพฤติกรรมรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือเสียชีวิต

ทั้งนี้หลายฝ่ายก็มองว่าอาจเกิดจากภาวะทางอารมณ์ ซึมเศร้า ขาดสติ ถูกกดดัน หรือทำให้โกรธแค้น การจัดการและควบคุมอารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ สรุปผลได้ดังนี้

1.เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงและต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ประชาชนมักจะมีอารมณ์แบบใด

อันดับ 1 ทำใจยอมรับ 51.00%

อันดับ 2 มีความคาดหวังและอยากรู้ว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป 37.55%

อันดับ 3 ตื่นเต้นกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 34.45%

อันดับ 4 กลัว 33.82%

อันดับ 5 เศร้าและเสียใจ 31.27%

2.เมื่อมีปัญหาต่าง ๆ เข้ามารุมเร้า ประชาชนควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีเพียงใด

ควบคุมอารมณ์ได้บ้าง 59.91%

ควบคุมอารมณ์ได้ดี 33.57%

ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ 6.52%

3.เรื่องอะไรที่มักทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่ได้

อันดับ 1 สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ ไม่สบาย 51.62%

อันดับ 2 มีปัญหาเรื่องเงิน 43.14%

อันดับ 3 มีปัญหาในการทำงาน/การเรียน 38.63%

อันดับ 4 เรื่องของเพื่อน แฟน คนใกล้ชิด 33.66%

อันดับ 5 เรื่องเกี่ยวกับครอบครัว พ่อแม่ 28.25%

4.เวลาที่เครียด โกรธ โมโห ประชาชนมักจะทำอย่างไร

อันดับ 1 ตั้งสติ 51.58%

อันดับ 2 ยอมรับและเผชิญกับความเป็นจริง 48.42%

อันดับ 3 ปล่อยวาง หยุดคิด 46.48%

อันดับ 4 คุยกับเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจได้ 44.98%

อันดับ 5 ปรับวิธีคิด คิดบวก ให้กำลังใจตัวเอง 43.49%

5.ประชาชนคิดอย่างไรกับข่าวความรุนแรงในสังคมปัจจุบัน (เช่น สาดน้ำกรดภรรยา จ่าทหารคลั่งกราดยิง ป้าใช้อีโต้ฟันหัวหลาน ฯลฯ)

อันดับ 1 น่าจะถูกกดดัน เครียด ขาดสติ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ 41.97%

อันดับ 2 สุขภาพจิตของคนในสังคมแย่ลง 22.58%

อันดับ 3 รู้สึกแย่ หดหู่ รุนแรงโหดร้ายเกินไป ไม่ควรเกิดขึ้นกับสังคมไทย 18.59%

อันดับ 4 มีการนำเสนอข่าวบ่อยครั้ง ตอกย้ำความรุนแรง 12.22%

อันดับ 5 อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเปลี่ยนสังคมไทยให้น่าอยู่มากขึ้น 11.69%

6.จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตัวประชาชนเองตอนนี้อยู่ในสภาวะใด

ยังทนได้ 73.37%

ไม่อยากทนและท้อถอย 26.63%

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า โควิด-19 ที่กินเวลายาวนานกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของคนไทย โดยจากผลโพลพบว่าเมื่อมีปัญหาคนส่วนใหญ่จะ “ทำใจยอมรับ” และยังอยู่ในสภาพที่ “ทนได้” เมื่อเครียด ก็พยายาม “ตั้งสติ” และจะควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้ แต่ก็มีกลุ่มที่บอกว่าตนเองนั้น “ควบคุมอารมณ์ไม่ได้” สอดคล้องกับข่าวความรุนแรงที่พบเห็นกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ต้องทนอยู่กับปัญหา กดดัน เครียด และขาดสติ ดังนั้นการดูแลสุขภาพใจจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ช่วยกันดูแล และสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้แก่ตนเองและคนใกล้ตัวในช่วงวิกฤติเช่นนี้

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัชนก นุกิจ รองคณบดีโรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า จากผลการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) พบว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้คนไทยต้องพบกับความเครียด ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วย ปัญหาสุขภาพ การเงิน การจัดการเวลาและสัมพันธภาพ ซึ่งทักษะชีวิต (Life Skill) ที่สำคัญและควรมีเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าคนเจเนอเรชั่นไหน อายุเท่าไหร่ ก็จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝน คือ 1) EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางด้านอารมณ์ 2) AQ (Adversity Quotient) ความฉลาดในการรับมือกับปัญหา 3) RQ (Resilience Quotient) ความสามารถทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัวและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติภายหลังที่พบกับวิกฤติ

นอกจากนี้ในปัจจุบันการเจริญสติ (Mindfulness) เป็นจิตวิทยากระแสใหม่ซึ่งอาศัยหลักการพักด้วยการฝึกสมาธิ ทำงานด้วยการฝึกสติ มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในด้านจิตบำบัด การพัฒนาคน การสร้างสุขด้วยสติในองค์กร ซึ่งหากเราได้รับการพัฒนาสติและสมาธิแล้วก็จะตั้งรับกับปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาที่เผชิญได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการเอาตัวรอดจากวิกฤติที่เกิดขึ้น