สร้างโอกาสให้ไทยในสงครามการค้า

โดยดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร

มาตรการกีดกันทางการค้า และการปกป้องอุตสาหกรรม โดยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราที่สูงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตามแผนที่จะลดการเสียดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวโลก รวมทั้งคนอเมริกันเองด้วย เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการสำคัญในเรื่องการแข่งขัน และการค้าเสรี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก และทำให้ผู้บริโภคจะต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น         

การดำเนินตามมาตรการของทรัมป์นี้ เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา พุ่งเป้าไปที่การนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นอันดับแรก ทำให้จีนต้องออกมาตรการตอบโต้สหรัฐอเมริกาในรูปแบบเดียวกัน เพียงแต่ในสินค้าต่างรายการกันเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีประเทศคู่ค้าอื่นๆ อย่างเช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และอียู กำลังพิจารณาออกมาตรการตอบโต้สหรัฐอเมริกาในขณะนี้ 

วันนี้ต้องถือว่า “สงครามการค้าขนาดใหญ่สุดในประวัติศาสตร์” ได้เกิดขึ้นแล้ว ความสับสนกับความไม่ชัดเจน ได้เกิดขึ้นกับชาวโลก ว่าเหตุใดประธานาธิบดีทรัมป์  ถึงนำนโยบายที่ตกยุค สวนกระแสโลกเช่นนี้กลับมาใช้อีก ทั้งๆ ที่ในอดีตเมื่อปี 1930 สหรัฐอเมริกาเคยนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า 

“ผมกลับมองว่า ระดับทรัมป์น่าจะรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐอเมริกา และเข้าใจกระแสเศรษฐกิจโลกสมัยใหม่เป็นอย่างดี เพราะทรัมป์เองก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จภายใต้กระแสการค้าเสรีแบบทุนนิยม หรือแม้กระทั่งการมองว่า ความจริงแล้วการเสียดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำ” 

ดังนั้น สิ่งที่ทรัมป์กำลังทำอยู่น่าจะเกี่ยวข้องกับ 2 เรื่อง ประเด็นคือ ประเด็นแรกเกี่ยวข้องกับการเมืองและการเลือกตั้งภายในสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2018 นี้ และอีกประเด็นหนึ่งคือ การดำรงความเป็นผู้นำโลก อย่างที่ทรัมป์ประกาศว่า  Make America Great Again การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเป็นมาตรการเปิด จึงไม่ใข่เป้าหมายหลักที่ต้องการให้จีนปฏิบัติตามกฎของตลาด ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือเลิกพฤติกรรมอุดหนุนภาคเอกชนจีน แต่สุดท้ายทั้งหมดนี้ ทรัมป์มองว่า จะเป็นผลพลอยได้ด้วย 

เป้าหมายหลักของทรัมป์ที่แท้จริงคือ “การหยุดจีน” ที่กำลังไต่เพดานขึ้นเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐอเมริกา โดยที่เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวสูงสุดต่อเนื่องมาหลายปี ในไม่ช้าจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกา การสร้างแสนยานุภาพทางการทหารขยายอาณาบริเวณไปทะเลจีนใต้ ขยายอิทธิพลทางการค้าไปทั่วโลกผ่านโครงการ One belt one road (OBOR) และยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่มีแนวโน้มจะขึ้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีสมัยใหม่อีกด้วย 

ในมุมมองของทรัมป์จะไม่ยอมให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียการเป็นผู้นำ ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างแน่นอน ทรัมป์จึงพร้อมทำทุกอย่าง แม้กระทั่งมาตรการที่ออกมาจะมีผลกระทบต่อประเทศที่เป็นมหามิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างอียู หรือญี่ปุ่น บ้างก็ตาม 

หากเป็นเช่นนี้จริงก็น่าสรุปได้ว่า สงครามการค้าจะยืดเยื้อ อาจมีการเจรจาเดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง กับคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา แต่เป้าหมายของทรัมป์ชัดเจนว่า ไม่ให้จีนโต 

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นมหามิตรและเป็นคู่ค้ากับสหรัฐอเมริกา ก็จำเป็นที่จะต้องประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปให้ออก และเร่งวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เราจะทำการค้าระหว่างประเทศแบบเดิมๆ คือ วิ่งไปขอเขาผ่อนผัน ยกเว้นภาษี ลดภาษี โดยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ คงไม่ได้แล้ว เราต้องเปิดเกมส์รุกมากกว่าตั้งรับ 

เพราะผมมองว่า เป็นโอกาสของไทย ที่เราอาจเร่งเปิดเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าหลัก รวมทั้งรองรับการลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและจีน เพื่อส่งออก แต่ทั้งนี้ไทยต้องไม่อยู่ในข่ายที่ติดกำแพงภาษีของทั้งสองประเทศด้วย นอกจากนั้น ควรเร่งดำเนินการในเรื่องสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และหาตลาดไหม่ จึงขอฝากรัฐบาลให้ปรับยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศค้าใหม่ ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ให้เศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์  จากสถานการณ์สงครามการค้า ที่วันนี้มหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนยังไม่ได้มองเราเป็นเป้าหมายครับ