สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม “วันอาสาฬหบูชา” ขอจงช่วยกันระดมความคิดเห็นในทางสันติ ฉลาด ด้วยสัมมาวาจา เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมในทุกระดับ

  • ความคิดที่จะลดละความอยากได้อยากมีจนเกินประมาณ
  • ความคิดที่จะไม่พยาบาทจองเวรกัน
  • ความคิดที่จะไม่เบียดเบียนกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจสำนักงานเลขานุการ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม ประทานพระคติธรรมเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันพุธ ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ความว่า

 ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ควรที่สาธุชนจักได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น “พระรัตนตรัย” ซึ่งเป็นสรณะนำทางชีวิตของพุทธบริษัท ให้มุ่งหน้าดำเนินไปสู่หนทางดับเพลิงกิเลสกองทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง  

ปฐมเทศนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ทรงชี้บอกวิถีทางดับทุกข์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ที่เรียกอีกอย่างว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวการณ์ปัจจุบัน อันเต็มไปด้วยภยันตรายอันน่าหวาดหวั่นที่หลายคนคิดว่าคงไม่อาจเกิดมีขึ้นแล้ว ก็กลับบังเกิดมีขึ้นอีกทั่วไปในโลก เช่น ภัยสงคราม ทุพภิกขภัย และภัยอาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ เป็นต้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสวัสดิภาพของผู้คนในวงกว้าง ท่านทั้งหลายพึงหันมาพิจารณาทบทวนอริยมรรค โดยใช้หนทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ “สัมมาสังกัปปะ” ซึ่งหมายถึง “ความคิดที่ถูกต้อง” กล่าวคือ ความคิดที่จะลดละความอยากได้อยากมีจนเกินประมาณ ความคิดที่จะไม่พยาบาทจองเวรกัน และความคิดที่จะไม่เบียดเบียนกัน ขอจงช่วยกันระดมความคิดเห็นในทางสันติ ฉลาดในการปรึกษาหารือกันด้วยสัมมาวาจา เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมในทุกระดับ ให้คลี่คลายไปได้ด้วยความอดทนอดกลั้น รู้จักละวางทิฐิมานะ ให้อภัย และมุ่งแผ่เมตตาต่อกันด้วยใจจริง 

 วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังอาจเตือนใจให้ทุกท่านตระหนักแน่วแน่ในปณิธานแห่ง “สัมมาสังกัปปะ” ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น หากท่านประสงค์ให้สังคมไทยร่มเย็นเป็นสุข ก็ขอจงหมั่นเพียรศึกษาอบรมและปฏิบัติธรรมะ โดยเริ่มที่ตนเอง จากการมี “สัมมาสังกัปปะ” อยู่ทุกขณะจิต เป็นการเกื้อกูลให้ตนเอง และสรรพชีวิตผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่างสามารถปลอดพ้นจากภยันตรายทั้งที่เป็นทุกข์ประจำ และทั้งที่เป็นทุกข์จรทั้งหลาย ได้สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ เทอญ.