“สมเด็จพระสังฆราช”มีพระดำรัสเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพร.9

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำรัสเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค. 2565

วันที่ 4 ธ.ค.2565 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำรัสเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค. 2565 ว่า อภิลักขิตสมัยคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง ทางราชการยังกำหนดให้เป็นวันชาติ และเป็นวันพ่อแห่งชาติอีกด้วย จึงควรที่เราทั้งหลาย ผู้อาศัยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมเป็นที่พึ่ง จักพึงน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และประกอบกรณียกิจ อุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ ผู้ทรงเปรียบได้ดั่งบิดาแห่งประชาราษฎร

ธรรมะของพระราชา หรือราชธรรม 10 ประการ ที่เรียกกันว่า “ทศพิธราชธรรม” นั้น แท้จริงแล้ว ย่อมยังประโยชน์ทั่วไปสำหรับสาธารณชน คนไทยทุกคนจึงควรศึกษาใคร่ครวญให้ถ้วนถี่ แล้วเชิดชูขึ้นเป็นวิถีนำทางประพฤติสำหรับตน ในปีนี้ จักได้ปรารภถึงธรรมะประการที่ 3 แห่งทศพิธราชธรรม กล่าวคือ “ปริจจาคะ” หรือ “บริจาค” ซึ่งหมายถึงการเสียสละโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นการยอมพลีให้พร้อมๆกับการละกิเลส เช่น สละทรัพย์ สละชีวิต สละกามสุข สละจากอกุศล เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ทรงสละพระราชทรัพย์ ความสุขส่วนพระองค์ และโอกาสที่จะทรงแสวงหาความสำราญ อันอาจจะทรงได้รับอย่างง่ายดายตามพระราชสถานะ หรือแม้ในบางคราวก็ทรงพร้อมที่จะเสียสละสวัสดิภาพแห่งพระชนมชีพ ยอมเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเสี่ยงภยันตรายอยู่ท่ามกลางสถานการณ์อันน่าหวั่นวิตก ทั้งนี้ ก็ด้วยมีพระบรมราชปณิธานอย่างแน่วแน่ ในอันที่จะเกื้อกูลประโยชน์สุขของปวงประชา ทรงถึงพร้อมด้วยพระราชอุดมการณ์อันแรงกล้า ที่จะนำพาสังคมไทยให้รุดหน้าไปสู่ความรุ่งเรืองอยู่ทุกขณะ ทำให้ทรงรักษาพระราชสัตยาธิษฐานแห่งความเสียสละไว้ได้อย่างมั่นคง เหตุฉะนี้ จึงทรงงามสง่าด้วย “ปริจจาคะ” เป็นปรกติในการสั่งสมพระบารมีธรรม

เราทั้งหลายผู้เป็นไทย จึงควรเจริญรอยตามพระราชจริยาในรัชกาลที่ 9 ด้วยการเพิ่มพูนความเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจ หรือกำลังสติปัญญา เพื่อสร้างสรรค์ความสวัสดีให้บังเกิดในหมู่ญาติมิตร บริวาร ชุมชน และสังคมประเทศชาติในวงกว้าง โดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน หลีกเลี่ยงให้พ้นจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อบันดาลความมั่นคงสถาพรให้บังเกิดแก่บ้านเมืองไทยสมพระบรมราชปณิธานในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

ขออานุภาพแห่งกุศลสมบัติที่สาธุชนทั้งหลายได้ร่วมกันสั่งสม จงสำเร็จเป็นทิพยารมณ์แห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นเครื่องปกปักรักษาประชาชาติ ให้องอาจแกล้วกล้าในคุณธรรมจรรยาทุกสถาน พร้อมเพรียงกันทำนุบำรุงราชอาณาจักรไทย ให้เจริญสวัสดิ์วัฒนาการยิ่ง ๆ ขึ้นสืบไป.