“สมคิด” สั่งคลังผุดมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน ดึงคนรวยออกมาใช้จ่าย ภายใน ก.ค.นี้

  • หวังส่งเสริมการจ้างงานในชุมชม 
  • ให้ธปท.หากลไกช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว-สายการบินเข้าถึงแหล่งเงินทุน 
  • ลุ้นยืดเวลาชำระหนี้เอกชนให้ยาวขึ้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า ได้สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และ กรมสรรพากร ไปคิดมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพิ่มเติมจากที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไปแล้วที่ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะต้องสรุปมาตรการให้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือนก.ค.นี้

“มาตรการที่ออกมา จะต้องเน้นการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะคนคนระดับบน หรือ คนรวย ที่จะต้องดึงคนเหล่านี้ออกมาใช้จ่ายมากขึ้นเพราะคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้การกระตุ้นท่องเที่ยวในชุมชนยังช่วยลดปัญหาการว่างงานในชุมชนอีกด้วย เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด โรงงานปิดตัวหลายแห่ง จึงทำให้มีแรงงานจำนวนมากย้ายกลับถิ่นฐานของตนเอง “

ส่วนเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จำนวน 500,000 ล้านบาท ที่ปัจจุบันผู้ประกอบต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อส่วนนี้ได้นั้น ได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และกระทรวงการคลังร่วมกันหากลไกหรือผ่อนคลายเงื่อนไขอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการที่มีขนาดเกิน 500 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนของธปท.ได้ และยังขาดสภาพคล่องอยู่ เช่น ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว สายการบิน เป็นต้น สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนของธปท.ได้ ภายในกลางเดือนก.ค.นี้ “ส่วนเรื่องที่เอกชนขอให้สถาบันการเงินขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไป 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.นี้ ได้มอบให้กระทรวงการคลังและธปท.หาแนวทางอยู่ว่าจะทำได้หรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง โดยไม่ต้องรอให้ธุรกิจปิดกิจการไปก่อนค่อยแก้ไขปัญหา

ขณะที่การเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจประสบปัญหา ดังนั้นจึงต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ซึ่งล่าสุด สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนตัวเล็ก วงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในวันที่ 8 ก.ค.นี้

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)และสศค.ออกโครงการค้ำประกันเงินกู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ PGS9 เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนของธปท. ให้มากขึ้น คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนถึงวงเงินที่จะใช้ในการค้ำประกัน ส่วนเรื่องการจ้างงานนั้น จะเน้นการจ้างงานให้เกิดขึ้นในชุมชนมากที่สุด โดยจะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ รวมถึงจ้างชาวบ้านลงพื้นที่เพื่อเก็บฐานข้อมูลเพื่อดำเนินในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เบื้องต้นคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ 400,000 คน สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวนั้นที่จะออกมานั้น จะให้สิทธิลดหย่อนภาษีหรือไม่ กำลังให้สรรพากรพิจารณาอยู่ เพราะต้องกระตุ้นกลุ่มคนมีเงินให้ออกมาใช้จ่ายให้ได้

ส่วนที่เอกชนขอยืดหนี้ออกไป 2 ปีนั้น ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะยืดหนี้ออกไปหรือไม่ เพียงแต่ขอให้ ธปท.พิจารณาแนวทางช่วยเหลือเอกชนเพิ่มเติม “เรื่องกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จะได้เท่าไหร่นั้น เลิกพูดได้แล้ว เพราะคาดการณ์ยาก มันมีปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม สิ่งที่รัฐพยายามทำได้คือ การจ้างงาน การสร้างอาชีพใหม่ หลังวิกฤติโควิด-19 ”