“สมคิด”สั่งคลังเตรียมมาตรการเยียวยารอบ 2 ไตรมาส 4

  • ให้รายงานภายในสองสัปดาห์
  • ชี้เพื่อรองรับเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้า
  • เผยมาตรการช่วยเอสเอ็มอีไม่คืบหน้า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า วันนี้รายงานในครม.ว่า จากการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) สมาคมธนาคารไทย และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตาม พ.ร.ก. 3 ฉบับเพื่อเยียวยาและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ พบว่าการเยียวยาของกระทรวงการคลังเป็นไปตามเป้า ส่วนประกันสังคมยังมีส่วนที่ยังไม่ได้รับ ให้ปลัดคลังตามโดยเร่งด่วน


สำหรับการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางลและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี)ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ยังเข้าไม่ถึงธนาคาร และอยู่นอกระบบ จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งจัดกลไกการบริหารกองทุนดูแลและช่วยเหลือกิจการขนาดเล็กเสริม นอกเหนือมาตรการที่ผ่านระบบธนาคาร ตามมติครม.สัปดาห์ที่แล้ว


ส่วนกองทุนตราสารหนี้ที่เน้น เข้าไปลงทุนกลุ่มระดับมาตรฐานการลงทุน (investment grade) ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เนื่องจากยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ใช่ระดับการลงทุน แต่มีศักยภาพ ให้นำตราสารเหล่านี้ที่มีหลายเกรดคละเคล้าเพื่อแบ่งเป็นหุ้นกู้ แล้วระดมทุนเพื่อให้กู้และช่วยเหลือเอกชน โดยมอบหมายให้ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธปท.ดูแลในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ให้หาหนทางผ่อนคลายภาระผู้ประกอบการโดยใช้มาตรการภาษีจูงใจให้มีการลดค่าเช่าของร้านค้า เลื่อนการชำระหนี้ ใช้มาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการจ้างงานบางส่วนของกิจการเอสเอ็มอี


นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ได้เตรียมการรองรับเศรษฐกิจหดตัวไตรมาส3-4 อันเนื่องจากการหยุดนิ่งของกิจกรรมเศรษฐกิจอันเนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ประกอบด้วย เร่งรัดโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ให้เม็ดเงินออกให้ทันการในไตรมาส3-4 จะเริ่มรับโครงการประมาณและให้เตรียมมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อให้มีการจับจ่ายของประชาชนและเอกชนควบคู่การเร่งใช้จ่ายงบประมาณ


นอกจากนี้ ให้หามาตรการจูงใจขยายโครงการท่องเที่ยวภายในประเทศในไตรมาส 3-4 ไปพร้อมกับการเตรียมผ่อนคลายให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกับประเทศที่แก้ปัญหาโควิท-19 ได้ดี และกำหนดเป็นพื้นที่กับพื้นที่โดยเตรียมมาตรการรองรับอย่างรอบคอบ โดยอาจเริ่มในไตรมาส 4


“ผมให้เตรียมการเยียวยารอบสองหากจำเป็นในไตรมาส4 โดยให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงคลัง สาขาธนาคารรัฐ เตรียมแบ่งพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่คนตกงานด้านอาหารกลางวันในทุกจังหวัดตามโครงการเราไม่ทิ้งกันโดยโครงการวายุภักดิ์ดูแลประชาชนร่วมกับภาคเอกชน ทั้งหมดนี้ให้สรุปมาตรการใน2 สัปดาห์เพื่อรองรับเหตุการณ์เป็นการล่วงหน้า”