“สมคิด”ดันออกมาตรการการเงินควบคู่นโยบายการคลังพยุงเศรษฐกิจไทย

  • ให้ ธปท.บริหารค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกิน
  • ผ่อนคลายแอลทีวีช่วยกู้ซื้อบ้านง่ายขึ้น
  • ดันแบงค์รัฐปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี-คลังเร่งคืนแวต

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 8.00 น.วันที่ 20 ม.ค. 2563 ที่กระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามงานเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนและการประสานงานร่วมกันระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกมากกว่าคาด ประกอบด้วย มาตรการผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน การเร่งรัดปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) การสร้างสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น ตลอดจนแนวทางที่จะร่วมกันบริหารจัดการให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพและไม่แข็งค่าจนกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม โดยทั้งหมดนี้เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้

“การหารือในครั้งนี้ประกอบไปด้วยหลายมาตรการ รวมทั้งกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.ได้ปรับสัดส่วน Loan to Value :LTV สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้แก่ผู้ซื้อบ้านทั้งหลังแรกและหลังที่สอง ซึ่งจะมีส่วนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาอยู่ในขนาดนี้มีสถานการณ์ดีขึ้นได้”

ขณะเดียวกัน รองนายกฯสมคิด ได้สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเร่งพิจารณาในประเด็นการลดภาระดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ยืมที่เป็นประกอบการเอสเอ็มอี ที่ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาแนวทางการคืนภาษีให้กับเอสเอ็มอี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) รวมถึงการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เร็วยิ่งขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับทางผู้ประกอบการและประชาชนให้เร็วที่สุด

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางที่จะร่วมกันบริหารจัดการให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าจนกระทบกับเศรษฐกิจ โดยขอให้ธปท.ดูแลบริหารจัดการค่าเงินให้สอดคล้องกับภูมิภาค ร่วมกับการมีมาตรการเสริมอื่นๆ ได้แก่
ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณาอนุญาตให้บริษัทประกันชีวิต สามารถนำเงินที่อยู่ในการบริหารไปลงทุนในต่างประเทศได้ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อเปิดทางให้มีเงินในประเทศไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น มีส่วนในการลดความกดดันของค่าเงินบาทได้ รวมถึงให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) หามาตรการสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีการไปลงทุนต่างประเทศหรือมีการนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้มีเงินไหลออกอีกทางหนึ่ง

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือและให้แนวทางให้ ธปท. ไปพิจารณาหาทางนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้และเป็นไปตามกฎหมาย จากปัจจุบันที่ทุนสำรองส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในตราสารที่ความน่าเชื่อถืออยู่ระดับ AAA เพื่อให้ ธปท. มีผลตอบแทนสูงขึ้นไม่ต้องแบกรับส่วนต่างมากจนเกินไปเมื่อมีเงินไหลเข้า

“การดำเนินการตามแนวทางเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในครั้งนี้คงไม่ทำให้ทางสหรัฐฯ เพิ่มจากจับตาประเทศไทย เพราะสหรัฐฯจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องนี้ คือดูจากสัดส่วนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สัดส่วนการเกินดุลกับสหรัฐฯ รวมถึงการเข้าแทรกแซงของ ธปท. แต่สิ่งที่เรากำลังทำคือการส่งเสริมให้มีเงินบาทไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นที่จะทำให้สหรัฐฯจับตาไทย”

สำหรับระยะเวลาที่ภาครัฐจะต้องดำเนินมาตรการการเงินการคลังแบบผ่อนคลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยมาตรการในครั้งนี้ คงดำเนินการไปก่อน 2-3 เดือนจากนั้นจะประเมินผล ว่าสภาพคล่องในระบบดีขึ้นหรือยังเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้วคงจะได้มีการทบทวนมาตรการอีกครั้งหนึ่ง แต่คาดว่าปัญหาของเศรษฐกิจโลกคงใช้เวลาอีกพอสมควรในการคลี่คลาย มาตรการจากภาครัฐก็คงออกมาเป็นระยะๆ เช่นครั้งนี้ก็เป็นการประสานการทำงานระหว่างนโยบายการเงินกับการคลังซึ่งนายสมคิด เห็นว่าจะต้องออกมาพร้อมกันในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากหลายด้านเช่นเวลานี้