“สภาพัฒน์” เผยจีดีพีไตรมาส 3 ปี 62 ดีขึ้นเล็กน้อยโต 2.4%

  • เผยหั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.6% เหตุส่งออกยังติดลบ
  • ย้ำจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี
  • เหตุสารพัดปัจจัยมากมายกดดันเศรษฐกิจไทย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัว 2.4% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ปี2562 ที่จีดีพีขยายตัว 2.3% ส่งผลให้จีดีพี 9 เดือน ขยายตัว 2.5 % โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า  โดยการส่งออกไตรมาส 3 ทรงตัว หรือไม่ขยายตัวเลย ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่การส่งออกหดตัว 4.2% บวกกับการปรับตัวดีขึ้นของการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐเพิ่มขึ้น 3.7% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่โต 1.4% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี 4.2% ต่อเนื่องจาก 4.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิม ช้อป ใช้ ซึ่งสภาพัฒน์เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจไทย

ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ปรับลดลงจากประมาณการณ์ก่อนหน้าที่คาดว่าจะโตร้อยละ 3 โดยจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2562 ต้องขยายตัวให้ได้ 2.8% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าปีนี้คาดว่าติดลบ  2% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 4.3% และการลงทุนโดยรวมขยายตัว 2.7%

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นอย่างช้า  แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะยังมีตัวแปรที่ไม่น่าไว้วางใจ เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทางออก Brexit ความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่กดดันเงินบาทให้แข็งค่า โดยคาดว่าปีนี้เงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ สถานการณ์ภัยแล้ง ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องทำไปพร้อมกันทุกด้านทั้งการบริโภคการใช้จ่ายภาครัฐการลงทุนและการส่งออก เศรษฐกิจไทยจึงจะดีขึ้น” นายทศพร กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7% หรือค่ากลาง 3.2% เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า  จากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3% ภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะโต 3.4% และปริมาณการค้าโลกที่คาดว่าจะดีขึ้น โดยรัฐบาลควรขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% เพราะการส่งออกมีสัดส่วนสูงมากต่อจีดีพี โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งโรดโชว์ เจาะตลาดส่งออกในสินค้าที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐจีน ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจไทยต่อไป แต่ความรุนแรงสงครามการค้าจะลดลง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐจีน ได้รับผลกระทบทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะจีนที่จีดีพีอาจโตต่ำกว่า 6%

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์การว่างงานที่ภาครัฐต้องจับตาอย่างใกล้ชิดหากมีสัญญาณผิดปกติต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น มาตรการชะลอการเลิกจ้าง แม้ว่า จำนวนผู้ว่างงานไตรมาส 3 ปี2562 อยู่ที่ 390,000 คน หรือคิดเป็น 1.1 % ของกำลังแรงงานรวม จะยังไม่มีความผิดปกติก็ตาม