สบส. ห่วงเด็กยุคออนไลน์ มีภาวะเครียด เนือย นิ่ง

  • แนะผู้ปกครองดูแลใส่ใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  • ปลูกฝังสุขบัญญัติให้เป็นนิสัย 
  • สุขภาพกาย ใจ แข็งแรง ช่วงโควิดระบาด

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เด็กมีการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ ด้วยอยู่กับบ้านทำให้มีลักษณะเนือยนิ่ง เป็นการทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายใช้พลังงานในระดับต่ำ หรือการนั่งๆ นอนๆ ที่ไม่ได้นอนหลับ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง และทำให้เกิดการเสพสื่อ ติดโซเชียล และเล่นเกมส์ออนไลน์ 

อีกทั้งมีความเครียดจากการเรียนออนไลน์ และการเพ่งสายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อสายตา ระบบประสาทและสมองของเด็ก สิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก โดยยึดสุขบัญญัติในการเป็นเครื่องมือที่ผลักดันให้เด็กมีสุขภาพที่ดี ทั้งกายและใจ เช่น การปรับพฤติกรรมทานอาหาร หลีกเลี่ยงขนมหวาน ของหวาน ระหว่างมื้อ ออกกำลังกายเป็นประจำ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น และทำกิจกรรมที่เด็กชอบเพื่อให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กในยุคออนไลน์ ผู้ปกครองสามารถสอนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยใช้สุขบัญญัติ เป็นรากฐานในการปลูกฝังนิสัยให้เด็กได้นำไปปฏิบัติใช้ให้มีสุขภาพร่างกายใจที่แข็งแรง ดังนี้ 1) สุขบัญญัติข้อที่ 4 กินอาหารสุกสะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ผู้ปกครองสามารถจัดเตรียมอาหารพวกผลไม้ ธัญพืช แทนขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน ที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาได้ 2) สุขบัญญัติข้อที่ 6 สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น การเรียนออนไลน์ การติดโซเชียล ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการหากิจกรรมเสริมเพิ่มเติมในการชวนด็กๆ ทำกิจกรรมร่วมกันให้เด็กห่างไกลจากการเสพสื่อ ทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เช่น การทำขนม ปลูกต้นไม้ ไปท่องเทียวเพื่อลดพฤติกรรมติดสื่อออนไลน์ และทำข้อตกลงร่วมกันในการใช้สื่อโซเชียลกำหนดว่าสามารถให้เล่นได้ช่วงเวลาใด 3) สุขบัญญัติข้อที่ 8 ออกกําลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจําปี คนในครอบครัวชวนกันออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันหรือสัปดาห์ละ 3-5 วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที มีการเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หรือทุกๆ 30 นาที หมุนไหล่หรือคอ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการพักสายตาหลังจากเรียนออนไลน์ 4) สุขบัญญัติข้อที่ 9 ทําจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬาเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน ผู้ปกครองพร้อมเปิดโอกาสให้เด็กสามารถระบายความเครียด ความในใจที่อยากบอกได้ ดังนั้น สุขบัญญัติจึงเป็นข้อกำหนดที่สำคัญที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ปลูกฝังให้กับเด็กในการเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้นจึงควรปฏิบัติ สุขบัญญัติให้เป็นนิสัย สุขภาพกาย ใจ แข็งแรง