สบน.มองหนี้สาธารณะปีนีไม่หนักเท่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

  • รอมาตรการรัฐบาลมีความชัดเจน
  • ทยอยกู้เงินให้เหมาะสมงบประมาณ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช  ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า สำหรับการเรื่องการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงินนั้น สามารถทำได้ตามหลักการ แต่จะต้องดูในภาพรวมก่อนว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปทำอะไรบ้าง และรัฐบาลจะสามารถระดมทุนมาจากแหล่งไหนได้บ้าง ซึ่งจะต้องรอให้มาตรการของรัฐบาลมีความชัดเจนก่อน

“นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี ไม่อยากให้โฟกัสเรื่องจำนวนเงินว่าจะกู้เท่าไหร่ หรือจะกู้ถึง 200,000 ล้านบาทหรือไม่ แต่อยากให้ดูว่าเงินส่วนที่กู้นั้นจะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ส่วนการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) โอนงบประมาณนั้น เป็นเรื่องของสำนักงบประมาณที่ต้องตัดสินใจ”

 อย่างไรก็ตามหนี้สาธารณะเคยสูงสุดเกือบ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งขณะนั้นไม่มีการแก้ไขวินัยการเงินการคลัง เพื่อขอกู้เงินเพิ่มแต่อย่างใด ส่วนในปี 2563 นั้น หนี้สาธารณะจะมากถึงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งหรือไม่  ยังไม่สามารถตอบได้ 

“สำหรับการกู้เงินนั้นรัฐบาลจะไม่กู้เงินจำนวนมากเป็นล้านล้านบาทเพื่อนำมากองไว้ แต่จะทยอยกู้เงินให้เหมาะสมงบประมาณที่จะใช้ในแต่ละโครงการมากกว่า และจะกู้ตามความเป็นจริงที่จะใช้เท่านั้น โดยจะต้องดูว่ากรอบงบประมาณที่รัฐบาลจะกู้นั้นใช้เงินเท่าไหร่”