สนค.ปรับเป้าเงินเฟ้อปี 65 ใหม่ขยายตัว 5.5-6.5%

  • จากเดิมที่คาดขยายตัว 4-5% หลังราคาพลังงานยังสูงต่อ
  • ค่าเงินบาทอ่อนยวบดันต้นทุนผลิต-ขนส่งสินค้าทะยาน
  • ส่วนครัวเรือนไทยกระเป๋าฉีกค่าใช้จ่ายทะลุ 1.8 หมื่นบาท

            นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ปรับเป้าหมายคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ปี 65 ใหม่ เป็นขยายตัวระหว่าง 5.5-6.5% โดยมีค่ากลาง 6% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อเดือนมี.ค.65 ที่คาดขยายตัว 4-5% มีค่ากลาง 4.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์เงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ของไทย เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินเงินเฟ้อทั้งปี 65 อยู่ที่ 4.2-5.2% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 6.2% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 6.5% คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 5.7% และแบงก์เอกชนหลายแห่ง ประเมิน 5.9%, 6% เป็นต้น

            สำหรับการปรับคาดการณ์ดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ อยู่ที่ 2.5-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.5-35.5 บาท/เหรียญฯ จากสมมติฐานที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมี.ค.65 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 3.4-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 90-110 เหรียญฯ/บาร์เรล และค่าเงินบาท 32-34 บาท/เหรียญฯ

            ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เดือนก.ค.65 อยู่ที่ 107.41 เทียบกับเดือนมิ.ย.65 ลดลง 0.16% แต่เทียบกับเดือนก.ค.64 เพิ่มขึ้น 7.61% ลดลงจากเดือนมิ.ย.65 ที่สูงถึง 7.66% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 65 (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 5.89% เทียบช่วงเดียวกันปี 64 และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 103.50 เพิ่มขึ้น 0.50% เทียบเดือนมิ.ย.65 และเพิ่มขึ้น 2.99% เทียบเดือนก.ค.64 ส่วนเฉลี่ย 7 เดือน เพิ่มขึ้น 2.01%

            สาเหตุหลัก ที่ทำให้เงินเฟ้อยังสูงอยู่ มาจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน ที่สูงขึ้นถึง 33.82% แม้ราคาน้ำมันบางชนิด เช่น แก๊สโซฮอล์ เบนซิน จะลดลง แต่ดีเซล ที่เป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังคงเดิม รวมถึงก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 8.02% ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ดีเซล ค่าขนส่ง ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 7.35%

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ สนค.ได้สำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือนแต่ละเดือน พบว่า เดือนก.ค.65 ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 18,061 บาท ใกล้เคียงกับเดือนมิ.ย.65 ที่ 18,088 บาท โดยสัดส่วน 58.99% เป็นค่าใช้จ่ายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม และอีก 41.01% เป็นอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หากแยกเป็นรายสินค้า พบว่า ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ มีค่าใช้จ่ายสูงสุดที่ 4,350 บาท ตามด้วยค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน 3,961 บาท, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 1,760 บาท, อาหารบริโภคในบ้าน อาหารดีลิเวอรี่ 1,607 บาท, อาหารบริโภคนอกบ้าน (ข้าวราดแกง) อาหารตามสั่ง ฟาสต์ฟูด 1,236 บาท, ค่าแพทย์ ยา และค่าบริการส่วนบุคคล 969 บาท, ผักแผลไม้ 943 บาท, ค่าหนังสือ สันทนาการ ค่าเล่าเรียน 759 บาท, ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ 667 บาท เป็นต้น